Our social:

อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น

ที่ตั้งและแผนที่
อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น
ต.ลำพูน อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฏร์ธานี 84120

โทร./โทรสาร 0 7734 4633 (ถ้ำขมิ้น)

อีเมล : tairomyen_ry@hotmail.com

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายประพันธ์ศักดิ์ ใจโพธิ์

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

ในอดีตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองน้ำเฒ่าบริเวณเขาช่องช้าง อำเภอบ้านนาสารจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นฐานที่มั่นใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2508 เป็นต้นมา ทางราชการเริ่มเข้าปราบปราม แต่สภาพภูมิประเทศเป็นอุปสรรคทำให้การปราบปรามไม่ได้ผล อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จึงใหญ่โตขึ้นกว่าเดิมบ้านช่องช้างและอีกหลายหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านปิด และได้เกิดเหตุการณ์สำคัญหลายครั้ง เช่นปี พ.ศ.2520 พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ถูกลอบยิงสิ้นพระชนม์ขณะประทับบนเฮลิคอปเตอร์ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี (นายสวัสดิ์ พันธ์เกษม) ถูกลอบสังหาร ปี พ.ศ. 2522 นายสุรชัย แซ่ด่าน กับกองกำลัง พคท. ปล้นรถไฟที่สถานีพรุพี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และในปี พ.ศ. 2525 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีถูกระเบิดพังยับเยิน ต่อมาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2525 พล.ท.หาญ ลีนานนท์ แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดยุทธการ “ใต้ร่มเย็น” กวาดล้างกองกำลัง พคท.จนราบคาบในเวลา 10 วัน และใช้เวลาอีก 3 เดือนเข้าเคลียร์พื้นที่ และได้ประกาศให้ประชาชนเข้าไปประกอบอาชีพในพื้นที่เดิมได้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2525 ในช่วงหลังจากนี้จึงมีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองน้ำเฒ่าอย่างกว้างขวางและรุนแรง ต่อมาสภาตำบลลำพูน อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีหนังสือลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2530 ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี (นายพาสกร จรูญรัตน์ และนายสิทธิพร โพธิ์เพชร) ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พล.อ.หาญ ลืนานนท์) ขอให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติที่บ้านปลายน้ำเหนือ หมู่ 7 ตำบลลำพูน อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีน้ำตกดาดฟ้าเป็นจุดเด่น กรมป่าไม้จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่กองอุทยานแห่งชาติ(เดิม) มาสำรวจดำเนินการ และได้ทำพิธีเปิดป้ายอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2530 ซึ่งใช้ชื่อว่าอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ตามชื่อของยุทธการ“ใต้ร่มเย็น” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พล.อ.หาญ ลีนานนท์) ในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิด และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณป่าไชยคราม ป่าวัดประดู่ แปลงที่2 และป่าคลองน้ำเฒ่า ในท้องที่ตำบลช้างซ้าย อำเภอกาญจนดิษฐ์ ตำบลทุ่งเตา ตำบลลำพูน ตำบลพรุพี อำเภอบ้านนาสาร และตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2534 เนื้อที่ประมาณ 425 ตารางกิโลเมตร หรือประมา265,625 ไร่ ตามประกาศในราชกิจจนุเบกษา เล่มที่ 108 ตอนที่ 245 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 73 ของประเทศไทย

ขนาดพื้นที่
265625.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ รย.1 (เหมืองทวด)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ รย.2 (คลองงาย)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ รย.3 (คลองตาล)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ รย.4 (เพชรพนมวัฒน์)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ รย.5 (ถ้ำขมิ้น)

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 40 กิโลเมตร จากทิศเหนือในเขตอำเภอกาญจนคิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จรดทิศใต้ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ราษฎรในเขตอำเภอบ้านนาสาร และอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ความสูงของพื้นที่เริ่มจากระดับที่ 200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทางด้านตะวันตกของพื้นที่และเริ่มลาดชันขึ้นรื่อย ๆ จนถึงด้านตะวันออกของพื้นที่มีลักษณะเป็นแนวสันเขา ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นแนวสันปันน้ำที่แบ่งพื้นที่รับน้ำออกเป็นสองทางโดยผันน้ำลงสู่แม่น้ำตาปีด้านทิศตะวันตก และผันน้ำลงสู่ลำคลองต่าง ๆ ในพื้นที่รับน้ำ ด้านทิศตะวันออก ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขานัน อำเภอท่าศาลา และอำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช มียอดเขาหนองเป็นยอดเขาสูงสุดอยู่ทางตอนกลางของพื้นที่ และเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สูงประมาณ 1,530 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นต้นน้ำของคลองฉวาง คลองตาเพชร คลองกงเสียด และคลองลำพูน ในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกมีภูเขาหินปูนกระจายอยู่บางส่วน โดยเฉพาะในเขตอำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศแบ่งเป็น 2 ฤดูกาล คือ ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม - ธันวาคม และฤดูร้อน ระหว่างเดือนมกราคม - เดือนเมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของพื้นที่ในแต่ละช่วงของปีเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก อุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนมีค่าเปลี่ยนแปลงจาก 25.0 องศาเซลเซียส ในเดือนมกราคม จนถึ ง 27.9 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยรายเดือนเท่ากับ 34.6 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยรายเดือนเท่ากับ 20.3 องศาเซลเซียส ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์และมีค่าเฉลี่ยตลอดปีเท่ากับ 26.4 องศาเซลเซียส 

พืชพรรณและสัตว์ป่า
ป่าดิบชื้นเป็นสังคมพืชส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น โครงสร้างของป่ามีอยู่ 3 ระดับชั้นเรือนยอด
เรือนยอดชั้นบนสูง 30-50 เมตร พันธุ์ไม้สำคัญที่พบได้แก่ ไม้ในวงค์ยาง ตะเคียนทอง ไข่เขียวตะเคียนทราย พะยอมทราย และหลุ่มพอ เรือนยอดไม้ชั้นสอง มีความสูงตั้งแต่ 15-30 เมตร พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางแรด ส้านขนเรือนยอดไม้ชั้นสามมีความสูงประมาณ 5-15 เมตร พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ชมพู่ป่า คอแลน ไฟกา และชก ไม้พื้นล่างประกอบด้วยพืชในวงศ์ขิงข่า หวายชนิดต่าง ๆ เช่น หวายกำพวน หวายแดง หวายเล็ก

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชนิดพันธุ์สัตว์ที่พบประเภทนี้ได้แก่ ช้าง สมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่ สัตว์ขนาดกลางจำพวก เลียงผา หมีควาย แมวป่า ชะนี เก้งกระจง หมูป่า และสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระรอก อ้นเล็ก เม่นหางพวง และอีเห็นข้างลาย เป็นต้น
นก ชนิดพันธุ์ของนกที่พบเห็นโดยทั่วไปได้แก่ นกตะขาบทุ่ง นกกก เหยี่ยวรุ้ง นกกระปูดใหญ่ นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวหงอก นกแซงแซวหางบ่วงเล็ก นกเขียวคราม นกตีทอง นกบั้งรอกแดง นกอีวาบตั๊กแตน นกหัวขวานแดงลาย นกหว้า และนกเขาเขียว เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน ที่พบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ เต่าหวาย เต่านา เต่าหก เต่าเหลีอง ตะพาบแก้มแดง ตะกวด เหี้ย กิ้งก่าบินปีกสีส้ม กิ้งก่าบินคอดำ กิ้งก่าหัวแดง จิ้งเหลน ดินจุดดำ จิ้งเหลนบ้าน จิ้งจกหางแหลม ตุ๊กแกบ้าน และงูชนิดต่างๆ ได้แก่ งูสิงหางดำ งูเขียวหัวจิ้งจก งูเขียวบอน และงูเหลือม เป็นต้น
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ส่วนใหญ่พบเห็นได้ง่ายในช่วงฤดูฝน ในช่วงหน้าแล้งมักหลบซ่อนหรือจำศีล ที่พบได้แก่ กบทูด กบหนองจงโคร่ง เขียดตะปาด เขียดจิก อึ่งกราย คางคกเล็ก และอึ่งอ่างบ้าน เป็นต้น

การเดินทาง
ด้วยรถยนต์ เส้นทางคมนาคมสะดวก อยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านนาสาร ประมาณ 8 กิโลเมตร
จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปตามถนนสาย 4009(สุราษฎร์ธานี-นาสาร) 40 กิโลเมตร ถึงตลาด
นาสาร เลี้ยวซ้ายตรงสามแยกเกรียงศักดิ์ ไปตามถนนพิชัยเดชะ - บ้านเหมืองทวด ประมาณ 8 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น


สถานที่ท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นโครงการจุฬาภรณ์พัฒนา 8น้ำตกดาดฟ้าเขาหนอง
สันเย็นถ้ำขมิ้นน้ำตกเหมืองทวด

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น