Our social:

อุทยานแห่งชาติทับลาน

ที่ตั้งและแผนที่
สถานที่ติดต่อ : 520 ม.1 ถนนสาย 304 กบินทร์บุรี - ปักธงชัย ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี 25220 

โทรศัพท์ : 037-210340 , 0925500172 

อีเมล์ : thaplannp@hotmail.com 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายประวัติศาสตร์ จันทรเทพ 
ตำแหน่ง : นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท 
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท 

อุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีป่าลาน ซึ่งหาดูได้ยากที่มีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ ลำธารต่างๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หุบผา หน้าผา น้ำตก เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ คือ มีเนื้อที่ประมาณ 1,397,375ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร 

ในอดีตป่าลานที่อุดมสมบูรณ์มีขึ้นอยู่กระจายทั่วๆ ไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมามีการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม จึงทำให้ป่าลานได้ถูกบุกรุกทำลายลงไปมาก จนปัจจุบันคงเหลือป่าลานแห่งสุดท้าย คือ บริเวณบ้านทับลาน บ้านขุนศรี บ้านบุพราหมณ์ และบ้านวังมืด จังหวัดปราจีนบุรี ในการไปตรวจสอบสภาพป่าลานเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2517 นายประดิษฐ์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ พบว่า ป่าลานในบริเวณดังกล่าวเป็นป่าลานแห่งสุดท้ายของประเทศเพื่ออนุรักษ์ป่าลานไว้ จึงมีดำริให้จัดตั้งป่าลานนี้เนื้อที่ประมาณ 36,250 ไร่ หรือ 58 ตารางกิโลเมตร เป็นวนอุทยาน และในการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติครั้งที่ 1/2518 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2518 ได้มีมติให้ดำเนินการวางแผนปฏิบัติการที่ป่าลานกบินทร์บุรี ซึ่งสำนักงานป่าไม้เขตปราจีนบุรี ได้มีคำสั่งที่ 169/2518 ลงวันที่ 11 เมษายน 2518 และคำสั่งที่ 194/2518 ลงวันที่ 15 เมษายน 2518 ให้ นายสุชล ผาติเสนะ นักวิชาการป่าไม้ตรี และ นายยัณห์ ทักสูงเนิน พนักงานประจำเขต โดยอยู่ในความควบคุมการดำเนินงานของนายไพโรจน์ เชี่ยวเอี่ยมวัฒนา นักวิชาการป่าไม้โท ไปดำเนินการรังวัดหมายแนวเขต และจัดพื้นที่ปรับปรุงให้เป็นวนอุทยานป่าลาน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแก่งดินสอ-แก่งใหญ่-เขาสะโตน จังหวัดปราจีนบุรี 

ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 2383/2520 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2520 ให้นายเชาวลิต เลิศชยันตรี นักวิชาการป่าไม้ 5 ทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานทับลาน และในปี พ.ศ. 2523 กองอุทยานแห่งชาติ ได้ให้วนอุทยานทับลานสำรวจพื้นที่โดยรอบ เพื่อผนวกพื้นที่บริเวณใกล้เคียงแนวเขตติดต่อวนอุทยาน ยกฐานะวนอุทยานทับลานเป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจปรากฏว่า บริเวณป่าดังกล่าวโดยรอบมีสภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์สวยงาม สัตว์ป่าชุกชุมเป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำมูล ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0708(ทล.)/16 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2523 ทั้งเพื่อเป็นการสนองมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ 

กรมป่าไม้จึงเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียวและป่าครบุรี ในท้องที่ตำบลสะแกราช ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย ตำบลครบุรี ตำบลจระเข้หิน ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี และตำบลสระตะเคียน ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 98 ตอนที่ 210 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 ของประเทศ 

ต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2531 อนุญาตให้กรมชลประทานใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานบริเวณป่าวังน้ำเขียว ป่าครบุรี ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน บางส่วนในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำมูลบน เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีเนื้อที่ 2,625 ไร่ หรือ 4.20 ตารางกิโลเมตร โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่ส่วนนี้ออก และในปี 2532 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว ป่าครบุรี ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน บางส่วนในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติตามที่กำหนดไว้โดยพระราชกฤษฎีกาเดิมปี พ.ศ. 2524 ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 106 ตอนที่ 107 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 

ที่ตั้งและอาณาเขตการปกครอง 
ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย 
จังหวัดปราจีนบุรี ได้แก่ อำเภอนาดี 
จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี และอำเภอเสิงสาง

ขนาดพื้นที่
1397375.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.1 (คลองน้ำมัน)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.2 (ลำปลายมาศ)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.3 (ลำแปรง)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.4 (เขามะค่า)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.5 (ห้วยเตย)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.6 (วังทะลุ)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.7 (เขาไม้ปล้อง)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.8 (ตลิ่งชัน)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.9 (ลำมะไฟ)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.10 (ภูลำใย)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.11 (ไทยสามัคคี)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.12 (ซับสะเดา)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.13 (สวนห้อม)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.14 (ลำเพียก)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ทล.15 (หาดจอมทอง)
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อน มียอดเขาสูงที่สุด คือ เขาละมั่ง สูงประมาณ 992 เมตร มีหุบเขาตามธรรมชาติ เหว และน้ำตก เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำมูล และแม่น้ำบางปะกง ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ท้องที่ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี มีพรรณไม้เฉพาะถิ่น คือ ต้นลาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นป่าลานพืชสุดท้ายที่สมบูรณ์และสวยงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ลักษณะภูมิอากาศ
ฤดูกาลประกอบด้วย 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายนของทุกปี บางปีอาจเลื่อนมาจนถึงพฤษภาคม ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ของทุกปี บางปีอาจเลื่อนมาจนถึงเดือนตุลาคม ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม - มกราคม ของทุกปี ในช่วงฤดูหนาวบริเวณท้องที่อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา อากาศจะหนาวเย็นสบาย บางเดือนที่อากาศเย็นจัดจะอยู่ระหว่าง 17 - 20 องศาเซลเซียส แต่ทั้งนี้สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากวิกฤติการณ์โลกร้อน จึงควรสอบถามการท่องเที่ยวจากอุทยานแห่งชาติก่อนเดินทางทุกครั้ง

พืชพรรณและสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติทับลานมีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มตำที่มีความสมบูรณ์มาก หากพิจารณาตามประเภทของป่าแล้วสามารถจำแนกได้ 4 ประเภท ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น เบญจพรรณ และป่าเต็งรัง จัดเป็นสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษณะทางนิเวศวิทยาของป่าภาคกลางกับนิเวศวิทยาของป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชุมชุม

และสำหรับบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน ท้องที่ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ที่มีต้นลานขึ้นกระจายในพื้นที่อย่างหนาแน่น ได้แก่ บริเวณบ้านทับลาน บ้านขุนศรี บ้านบุพราหมณ์ และบ้านวังมืด จึงได้ชื่อว่าป่าลานผืนสุดท้ายที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุดของประเทศไทย ซึ่งต้นลานจัดเป็นไม้ตระกูลปาล์ม เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นตรงและแข็ง ภายในเนื้อเป็นเส้นใย มีใบอ่อนรอบลำต้นเป็นชั้น ๆ ก้านใบยาวประมาณ 3 - 4 เมตร หนึ่งก้านมีหนึ่งใบ ใบกว้างประมาณ 2 - 3 เมตร จนมีคำสอนในอดีตกาลว่า "ใครที่ชอบตีพ่อแม่ ตายไปมือจะใหญ่เท่าใบลาน" ลำต้นสูงประมาณ 10 - 26 เมตร มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น เป็นต้นไม้ที่มีอายุขัยประมาณ 60 - 80 ปี เมื่อต้นแก่ก็จะออกดอกและผล ดอกมีสีขาว ซึ่งต้นลานจะออกดอกเพียงครั้งเดียว และเมื่อต้นลานออกดอกก็หมายความว่าต้นลานจะต้องตาย เมื่อเมล็ดร่วงหล่น ต้นลานก็จะเริ่มเหี่ยวเฉา และเหี่ยวแห้งตายลงทันที

ทรัพยากรสัตว์ป่า
จำนวนชนิดของสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่ได้จากการสำรวจของกรมป่าไม้ (2543) พบว่ามีสัตว์ประเภทที่มีกระดูกสันหลังอยู่ไม่ต่ำกว่า 321 ชนิด จำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบรวม 76 ชนิด จาก 55สกุล ใน 26 วงศ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง สัตว์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่สำคัญ ได้แก่ เลียงผา กวางป่า เป็นต้น
-นก พบรวม 144 ชนิด จาก 115 สกุล ใน 41 วงศ์ และจำแนกเป็นนกประจำถิ่น 135 ชนิด และนกอพยพย้ายถิ่น 9 ชนิด ชนิดนกที่สำคัญได้ ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ฟ้าพญาลอ นกเงือกกรามช้าง นกกก นกแขกเต้า และนกขุนทอง เป็นต้น
-สัตว์เลื้อยคลาน พบรวม 48 ชนิด จาก 35 สกุล ใน 4 วงศ์ ชนิดพันธุ์ที่สำคัญ ได้แก่ เต่าเหลือง กิ้งก่าบินปีกสีส้ม เป็นต้น
-สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบไม่ต่ำ 17 ชนิด จาก 8 สกุล ใน 4 วงศ์ ชนิดพันธุ์ที่สำคัญ ได่แก่ กบนา เขียดตะปาด และอึ่งแม่หนาว
-ปลาน้ำจืด พบไม่ต่ำกว่า 31 ชนิด จาก 26 สกุล ใน 17 วงศ์ ชนิดปลาที่สำคัญ ได้แก่ ปลาชะโอน ปลาดัก ปลากระทิง เป็นต้น 

การเดินทาง
การเดินทางสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน (ป่าลาน) โดยรถยนต์สามารถมาได้ 2 เส้นทาง คือ
เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพ ฯ ถึงอุทยานแห่งชาติทับลานใช้เส้นทางองครักษ์ – นครนายก – ปราจีนบุรี ระยะทางรวมประมาณ 197 กิโลเมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ห่างจากสี่แยกกบินทร์บุรีไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กบินทร์บุรี – ปักธงชัย) ประมาณ 32 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 จากจังหวัดนครราชสีมาใช้เส้นทางปักธงชัย – กบินทร์บุรี ถนนหลวงหมายเลข 304 ระยะทางประมาณ 107 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ พบป่าลานที่ขึ้นกระจัดกระจายเป็นบริเวณกว้าง ที่ทำการจะอยู่ติดกับถนนหลวง

การเดินทางสู่ศูนย์การจัดการอุทยานแห่งชาติทับลาน(ลำปลายมาศ) หรือ แหล่งท่องเที่ยวหาดชมตะวัน ใช้ทางหลวงหมายเลข 2119 (ครบุรี – เสิงสาง) ระยะทางประมาณ 89 กิโลเมตร ถึง อ.เสิงสาง ต่อทางหลวงหมายเลข 2356 (เสิงสาง – หาดชมตะวัน) ประมาณ 15 กิโลเมตร

การเดินทางสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 13 (สวนห้อม) หรือ แหล่งท่องเที่ยวน้ำตกสวนห้อม จะอยู่บริเวณหมู่บ้านศาลเจ้าพ่อ หรือ รู้จักกันในนามตลาด กม.79 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดยเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถโดยสารประจำทาง จากจังหวัดนครราชสีมา ใช้ถนนหลวงหมายเลข 304 (กบินทร์บุรี – ปักธงชัย) ระยะทางประมาณ 79 กม. ถึงบริเวณตลาดศาลเจ้าพ่อ จากนั้นเลี้ยวซ้ายบริเวณบ้านสวนห้อมใช้เส้นทางถนนคอนกรีตเข้าหมู่บ้านประมาณ 6 กิโลเมตรก็ถึงที่ตั้งหน่วยฯ หรือเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ใช้เส้นทางองครักษ์ – นครนายก – ปราจีนบุรี – กบินทร์บุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสาย 304 ประมาณ 32 กม. ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน จากนั้นเดินทางโดยใช้ถนนสาย 304 อีกประมาณ 20 กม. ก็จะถึงบริเวณตลาดศาลเจ้าพ่อ จากนั้นเลี้ยวขวาบริเวณบ้านสวนห้อมใช้เส้นทางถนนคอนกรีตเข้าหมู่บ้านประมาณ 6 กิโลเมตรก็ถึงที่ตั้งหน่วยฯ

การเดินทางสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 11 (ไทยสามัคคี) หรือ แหล่งท่องเที่ยวผาเก็บตะวัน จะอยู่บริเวณหมู่บ้านไทยสามัคคี ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ห่างจากทางเข้าแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกสวนห้อม เลยมาทางด้านอำเภอวังน้ำเขียว ประมาณ 3 กิโลเมตร โดยเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถโดยสารประจำทางจากจังหวัดนครราชสีมา ใช้ถนนหลวงหมาย เลข 304 (กบินทร์บุรี – ปักธงชัย) ระยะทางประมาณ 75 กม. ถึงบริเวณตลาดศาลเจ้าพ่อ จากนั้นเลี้ยวซ้ายบริเวณบ้านไทยสามัคคี-บุไผ่ ใช้เส้นทางถนนลาดยางเข้าหมู่บ้านประมาณ 13 กิโลเมตร และถนนลูกรังอีกประมาณ 2 กม. ก็ถึงที่ตั้งหน่วยฯ หรือเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ใช้เส้นทางองครักษ์ – นครนายก – ปราจีนบุรี – กบินทร์บุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสาย 304 ประมาณ 32 กม. ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน จากนั้นเดินทางโดยใช้ถนนสาย 304 อีกประมาณ 25 กม. ก็จะถึงบริเวณไทยสามัคคี-บุไผ่ จากนั้นเลี้ยวขวาใช้เส้นทางถนนลาดยางเข้าหมู่บ้านประมาณ 13 กิโลเมตร และถนนลูกรังอีกประมาณ 2 กม. ก็ถึงที่ตั้งหน่วยฯ 

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ8 กรกฎาคม 2567 เวลา 22:42

    คัดต้านการเฉือนป่าของอุยานแห่งชาติทับลาน

    ตอบลบ