Our social:

อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ

ที่ตั้งและแผนที่
อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ 
ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี 22210 

โทรศัพท์ : 08 1945 0049 

อีเมล: khaokhitchakut_np@hotmail.com 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายนิพนธ์ ภิญโญ 
ตำแหน่ง : เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท 
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท 

อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ อยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าเขาคิชฌกูฏหรือเขาพระบาท ท้องที่อำเภอมะขาม และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยภูเขา ทิวทัศน์ที่งดงาม มียอดเขาสูงสุดอยู่ในระดับความสูง 1,000 เมตร มีสภาพธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกกระทิง และปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะในด้านความเชื่อถือทางศาสนาเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาคิชฌกูฏ มีเนื้อที่ประมาณ 58.31 ตารางกิโลเมตร หรือ 36,444.05 ไร่

เมื่อปี พ.ศ. 2501 นายกนิยมไพรสมาคม ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เสนอให้รักษาป่าเขาคิชฌกูฏ ท้องที่จังหวัดจันทบุรี ไว้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์และจัดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงให้ป่าไม้เขตศรีราชาประสานงานกับป่าไม้จังหวัดจันทบุรีดำเนินการ และได้มีคำสั่ง ที่ 852/2517 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2517 ให้นายสมพล วรรณกุล นักวิชาการป่าไม้เอก ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งผลการสำรวจ ตามรายงานการสำรวจลงวันที่ 16 มิถุนายน 2518 พบว่า สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีสภาพทางธรรมชาติสวยงาม ประกอบด้วย ถ้ำ น้ำตก และมีสัตว์ป่าชุกชุม เหมาะกับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ 

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ 2/2518 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2518 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าเขาคิชฌกูฏให้เป็นอุทยานแห่งชาติ 

กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการขอเพิกถอนป่าเขาคิชฌกูฏ ซึ่งมีสถานภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 49 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 39 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2508 ออกจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติก่อน โดยมีประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 108 ลงวันที่ 7 กันยายน 2519 

ต่อมาดำเนินการจัดตั้งป่าเขาคิชฌกูฏเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาคิชฌกูฏ ในท้องที่ตำบลตะเคียนทอง ตำบลฉมัน ตำบลพลวง และตำบลวังแซ้ม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 36,687 ไร่ หรือ 58.70 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 38 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 14 ของประเทศไทย 

ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนเนื้อที่บางส่วน จำนวน 242.95 ไร่ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 64 ก ลงวันที่ 24 ก.ย.2541 จึงคงเหลือพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ 36,444.05 ไร่ หรือ 58.31 ตารางกิโลเมตร

ขนาดพื้นที่
36444.05 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คก.2 (คลองไพบูลย์)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คก.1 (พระบาทพลวง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ คก.1 (พระบาท)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ คก.2 (คลองไพบูลย์)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ชั่วคราว (ทุ่งเพล)
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ
ด่านตรวจ/ด่านเก็บค่าธรรมเนียม 1(ที่ทำการอุทยาน)
ด่านตรวจ/ด่านเก็บค่าธรรมเนียม 2(คก.2 คลองไพบูลย์)

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงชัน เนื่องจากการดันตัวของเปลือกโลก หินฐานเป็นหินอัคนีพวกหินแกรนิต ยุคจูแรสสิค มีอายุประมาณ 135-180 ล้านปี ทางด้านทิศตะวันออกจะมีความลาดชันมาก แนวสันเขาวางตัวไปในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เชิงเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้มีความลาดชันน้อย มียอดเขาพระบาทเป็นภูเขาสูงสุด สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,085 เมตร มีที่ราบอยู่ทางทิศตะวันตกเพียงเล็กน้อย บนเขาพระบาทมีหินก้อนใหญ่ลักษณะกลมเกลี้ยงกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณรอยพระพุทธบาทมีหินก้อนใหญ่มาก สามารถมองเห็นได้จากพื้นราบนอกเขตอุทยานแห่งชาติ เทือกเขาสูงในอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำห้วยที่สำคัญ เช่น คลองกระทิง คลองตะเคียน คลองทุ่งเพล คลองพลวง เป็นต้น ลำน้ำเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำจันทบุรี 

ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยช่วงตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์อากาศหนาวเย็น ท้องฟ้าโปร่ง ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคมจะมีความชื้นในอากาศสูง เกิดเมฆและฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 2,900 มิลลิเมตร ช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน เป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนอิทธิพลจากลมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 27 องศาเซลเซียส 

พืชพรรณและสัตว์ป่า
ระบบนิเวศในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎสามารถแบ่งออกได้หลักๆ 2 ประเภท คือ ป่าดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ได้แก่ ยางแดง กระบาก หย่อง มะก่อ บุนนาค ลูกดิ่ง สารภี เนียนดำ มะไฟ จิกดง มะซาง ดีหมี เลือดควาย สำรอง กระบกกรัง ฯลฯ และป่าดิบเขา จะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 800 เมตรขึ้นไป หรือจะพบเฉพาะบริเวณยอดเขา เช่น เขาพระบาทพลวง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ มะก่อ กระบกกรัง สารภี บุนนาค ทำมัง พิมเสนป่า พลอง คอเหี้ย ชันใบใหญ่ รง พลับ อบเชย และดีหมี เป็นต้น

ในส่วนของสัตว์ป่า เนื่องจากสภาพป่าอยู่ในเขตเทือกเขาสูงชัน และประกอบกับราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับอุทยานแห่งชาติไม่ลักลอบล่าสัตว์ เพราะมีอาชีพที่เป็นหลักแหล่งและทำรายได้ดีอยู่แล้ว คือ การทำสวนผลไม้ สัตว์ป่าจึงยังมีชุกชุม ได้แก่ ช้าง กระทิง เสือปลา หมีควาย กวางป่า เก้ง เลียงผา หมูป่า ชะนีมงกุฎ เม่นใหญ่ อีเห็นข้างลาย พังพอนเล็ก กระต่ายป่า กระแต กระรอกหลากสี ค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง นกกระทาทุ่ง ไก่ฟ้าหลังขาวจันทบูรณ์ ไก่ป่า นกกวัก นกเขาเปล้า นกกระปูดใหญ่ นกตะขาบทุ่ง นกกก นกปรอดเหลืองหัวจุก นกแซงแซวหางปลา นกกางเขนดง นกกินปลีอกเหลือง เต่าเหลือง จิ้งจกหางหนาม ตุ๊แกบ้าน กิ้งก่าหัวแดง แย้ ตะกวด จิ้งเหลนบ้าน งูหลาม งูเขียวหางไหมท้องเหลือง คางคกบ้าน กบบัว ปาดบ้าน อึ่งอ่าง ฯลฯ ตามลำห้วยลำธารต่างจะพบปลาตะเพียนทราย ปลาซิวหางแดง ปลาสร้อยนกเขา ปลาชอนทราย ปลาติดหิน ปลากดเหลือง ปลาแป้น ปลาหมอไทย ปลาบู่ ปลากระทิง และปลากระทุงเหว เป็นต้น 

การเดินทาง
รถยนต์
จากกรุงเทพฯ เดินทางโดยรถยนต์ไปตามทางถนนสายบางนา-ตราด เมื่อถึงสี่แยกเขาไร่ยา ตรงหลักกิโลเมตร 324 แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าถนนบำราศนราดูร เป็นระยะทาง 21 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางเข้าอุทยานแห่งชาติ ซึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ให้เลี้ยวขวาไปอีก 1.5 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น