Our social:

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง

ที่ตั้งและแผนที่
สถานที่ติดต่อ : 192 หมู่ที่ 4 ต.หงาว อ.เมืองระนอง จ.ระนอง 85000

โทรศัพท์ : 0 7788 0438

อีเมล์ : mukoranong@hotmail.com

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายจิรศักดิ์ จารุศักดาเดช

เมื่อปี พ.ศ. 2532 กรมป่าไม้ ให้เจ้าหน้าที่ออกดำเนินการสำรวจป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 4 ป่า รวมทั้งเกาะใกล้เคียง เพื่อประกาศจัดตั้ง อุทยานแห่งชาติ ซึ่งผลการสำรวจเบื้องต้นผู้สำรวจมีความเห็นว่า ป่าชายเลน ป่าบก ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และทรัพยากรทางทะเลรอบ ๆ เกาะต่าง ๆ ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ป่าไม้ยังไม่เคยผ่านการสัมปทานทำไม้ มีพันธุ์ไม้มีค่ามากมาย มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งบนบกและ ในทะเล พื้นที่จึงมีความเหมาะสมแก่การสงวนไว้ ให้คงอยู่ในสภาพเดิม มิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและความรื่นรมย์ของประชาชน ตามเจตนารมณ์ ของ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504
ปี พ.ศ. 2540 องค์การยู เนส โก ได้ประกาศพื้นที่ป่าคลองหัวเขียว-ป่าคลองเกาะสุย ป่าคลองหินกอง-ป่าคลองม่วงกลวง บางส่วน และพื้นที่บริเวณใกล้เคียงให้เป็นเขตสงวนชีวมณฑลระนอง จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2543 ในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่3/2543 คณะกรรมการมีมติเห็นชอบในการกำหนด บริเวณที่ดิน ป่าคลองหัวเขียว-ป่าคลองเกาะสุย ป่าคลองหินกอง-ป่าคลองม่วงกลวง ป่าเกาะช้าง และเกาะพยาม ในท้องที่ตำบลปากน้ำ ตำบลหงาว ตำบลราชกรูด และตำบลเกาะพยาม อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยให้ กรมป่าไม้ดำเนินการตามขั้นตอน
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2547 คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระรากฤษฎีกาการกำหนดบริเวณที่ดิน ป่าคลองหัวเขียว-ป่าคลองเกาะสุย ป่าคลองหินกอง-ป่าคลองม่วงกลวง ป่าเกาะช้าง และเกาะพยาม ในท้องที่ตำบลปากน้ำ ตำบลหงาว ตำบลราชกรูด และตำบลเกาะพยาม อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2548 ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม(นายยงยุทธ ติยะไพรัช) ได้เดินทางมาตรวจราชการในท้องที่ จังหวัดระนองและชุมพร ราษฎรได้ยื่นเรื่องราวคัดค้าน การประกาศอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม โดยมีเหตุผลว่าแนวเขตทับซ้อนกับที่ดินทำกิน อยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์อื่น ของราษฎรและเรียกร้องให้ยับยั้งการประกาศอุทยานแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้มีบัญชาให้ชะลอการประกาศและให้ จังหวัดระนองแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหาก ยุติแล้วก็ กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติที่จะประกาศแล้วดำเนินการโดยด่วน เพื่อป้องกันการบุกรุกและอ้างสิทธิ์ (ท้ายหนังสือผู้ตรวจฯด่วนที่สุด ที่ ทส0206.4(3)/359 ลงวันที่ 29เมษายน 2548) และให้จังหวัดระนองได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา คณะกรรมการร่วมตรวจพื้นที่ทำกิน หรือที่อยู่อาศัยของราษฎร ในกรณีการเตรียมพื้นที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ตามคำสั่ง จังหวัดระนอง ที่ 934/2548 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2548
ผลการดำเนินงานตามคำสั่งจังหวัดระนอง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีที่ดินทำกิน อยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์อื่นของราษฎร ที่ทับซ้อนกับพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ ตามคำสั่งจังหวัดดังกล่าว โดยได้ประสานงานประชุมผู้เกี่ยวข้องแต่ละหมู่บ้าน แล้วทำการสำรวจหมายแนวเขต ทาสีแดง ร่วมกับคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน โดยให้ราษฎรเจ้าของที่ดินเป็นผู้ชี้แนวเขตที่ดินของตนเอง ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2549 จนเสร็จสิ้นได้ข้อยุติแล้ว ในท้องที่ 4 ตำบล 12 หมู่บ้าน ดังนี้
1. ท้องที่ตำบลปากน้ำ ดำเนินการในท้องที่หมู่ที่ 4 รวม 1 หมู่บ้าน
2. ท้องที่ตำบลหงาว ดำเนินการในท้องที่หมู่ที่ 3,4และ 5 รวม 3 หมู่บ้าน
3. ท้องที่ตำบลราชกรูด ดำเนินการในท้องที่หมู่ที่ 1,2,4,5,6,7และ8 รวม 7 หมู่บ้าน
4.ท้องที่ตำบลเกาะพยาม ดำเนินการในท้องที่หมู่ที่ 2 รวม 1 หมู่บ้าน
ส่วนท้องที่ หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยามดำเนินการแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ รวม 1 หมู่บ้าน
ผลการดำเนินงานตามคำสั่งจังหวัดระนอง ที่ 934/2548 ลงวันที่ 18กรกฎาคม 2548ปรากฏดังนี้
• พื้นที่กันออก กรณีราษฎรทำกินอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์อื่นถาวรชัดเจนและต่อเนื่องได้กันออกจากพื้นที่เตรียมการ และไม่มีที่ดินทำกินอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์อื่นทับซ้อนกับแนวเขตเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติแต่อย่างใด
• พื้นที่ไม่กันออก กรณีราษฎรทำกินอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์อื่น ไม่ถาวร ไม่ชัดเจนและไม่ต่อเนื่องหรือทำประโยชน์ชั่วคราว
ได้สำรวจขึ้นทะเบียนไว้ดังนี้
พื้นที่บก มีการทำกินอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์อื่นของราษฎร รวม ๔๓ ราย ๔๕ แปลง เนื้อที่ ๕๔๒ ไร่
พื้นที่น้ำ มีการทำกิน อยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์อื่น รวมจำนวน 296 ราย 387 แปลง เนื้อที่ 285 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา
สำหรับบนเกาะพยาม ท้องที่หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมือง จังหวัดระนอง พื้นที่ส่วนใหญ่ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.) ได้ดำเนินการรับรองสิทธ์ในที่ดินให้แก่ราษฎรแล้ว คงเหลือเฉพาะที่ดินในโซน c บางส่วน ราษฎรได้ถือครองทำประโยชน์ จากภาพถ่ายดาวเทียมและการสำรวจภาคพื้นดิน ปรากฏว่า มีพื้นที่ที่ยังคงเป็นป่าสมบูรณ์ตามธรรมชาติอยู่ 3 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ ๒,๓๕๖ ไร่ ไม่มีราษฎรทำกิน อยู่อาศัย หรือทำประโยชน์อื่นแต่อย่างใด จึงได้กำหนดแนวเขตเสร็จสิ้น
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2550 คณะกรรมการอำนวยการ ตามคำสั่งจังหวัดระนองที่ 934/2548ลง วันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ได้ร่วมกันประชุม ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดระนอง โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติรับรองผลการปฏิบัติงานของคณะทำงาน จำนวน 12 หมู่บ้าน รวมเนื้อที่ 222,938 ไร่ และให้นำเสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่งเรื่องราว ให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาดำเนินการต่อไป ส่วนพื้นที่บนเกาะพยาม ไม่มีการรับรอง จึงมีมติให้ผนวกเป็นอุทยานภายหลัง และให้เปลี่ยนชื่อ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามเป็นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม (นายสมพล เรืองน้อย) ได้ร่วมประชุมชี้แจง กับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบผลการแก้ไขปัญหากรณีที่ดินของราษฎรทับซ้อนกับเขตเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ และให้แก้ไขแผนที่ ชื่อเกาะให้ถูกต้อง และให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตรวจสอบยืนยันกรณีพื้นที่ไม่ทับซ้อนกับเขตเตรียมการ
ต่อมา คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุย ป่าเกาะช้าง ป่าคลองหินกองและป่าคลองม่วงกลวง และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลปากน้ำ ตำบลหงาว ตำบลเกาะพยาม และตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ........(อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม) ส่งเรื่องราวให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ดำเนินการต่อไป
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ทั้งนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้นำร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไป แต่รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) จึงมิได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระรากฤษฎีกาอีกครั้ง นำเรื่องราวกราบเรียนนายกรัฐมนตรี (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) ที่ทำเนียบรัฐบาล(ชั่วคราว)ดอนเมือง แต่นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถลงนามเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ เนื่องจากถูกยุบพรรคการเมือง
ต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จึงได้ส่งเรื่องราวกลับคืน เพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณายืนยันว่าจะดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวต่อไปหรือไม่ พร้อมทั้งให้พิจารณาเรื่องราวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ให้ชะลอการประกาศอุทยานแห่งชาติด้วย ซึ่งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ได้ชี้แจงตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0914.511/ 69 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552 แล้ว
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาอีกครั้ง และนำขึ้นทูลเกล้าฯ
ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองหัวเขียว และป่าคลองเกาะสุย ป่าเกาะช้าง ป่าคลองหินกองและป่าคลองม่วงกลวงและเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลปากน้ำ ตำบลหงาว ตำบลเกาะพยามและตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2552 (อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 96 ก หน้า 20-22 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2552 เป็นลำดับอุทยานแห่งชาติที่ 119 ของประเทศไทย
ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีประกาศ เรื่องเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 เปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม เป็น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง 

ขนาดพื้นที่
222938.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ รน.1 (เกาะช้าง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ รน.2 (เกาะทรายดำ)

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเกาะพยาม ตำบลหงาว ตำบลราชกรูด และตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยมีอาณาเขตทิศเหนือจดสาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพพม่า ท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ทิศใต้จดเขาชาย และคลองม่วงกลวง ท้องที่ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ทิศตะวันออกจดป่าชายเลน ท้องที่ตำบลหงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง และทิศตะวันตกจดทะเลอันดามัน ท้องที่ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามสามารถแบ่งลักษณะภูมิประเทศออกได้เป็น 3 กลุ่มพื้นที่ ได้แก่

พื้นที่ชายฝั่งทะเล เป็นพื้นที่ลาดลงมาจากทิศตะวันออกของจังหวัดระนอง มีหาดยื่นออกไปในทะเล และปกคลุมไปด้วยป่าชายเลน ซึ่งเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง รัฐบาลไทยจึงได้จัดทำโครงการร่วมกับประเทศสมาชิกยูเนสโก้ประกาศพื้นที่ชายฝั่งบริเวณนี้เป็นเขตสงวนชีวมลฑลโลก (International Coastal and Marine Biosphere Reserve) ซึ่งเป็นแห่งที่ 4 ของประเทศไทย พื้นที่ทั้งหมดของเขตสงวนชีวมลฑลโลก มีพื้นที่ประมาณ 214.35 ตร.กม ซึ่งมีพื้นที่ส่วนหนึ่งทับอยู่ในเขตอุทยานแห่งขาติหมู่เกาะพยามประมาณ 176 ตร.กม โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นที่สงวนความหลากหลายทางธรรมชาติ

พื้นที่ใกล้ชายฝั่ง ได้แก่ บริเวณเกาะบางจาก เกาะยิว เกาะทรายดำ เกาะสน ประกอบด้วยป่าชายเลนทางทิศตะวันออก และหาดทรายทางฝั่งตะวันตก ส่วนพื้นที่บนเกาะปกคลุมไปด้วยป่าดงดิบ

พื้นที่ห่างจากชายฝั่ง ได้แก่ บริเวณเกาะช้าง เกาะพยาม เกาะทะลุ เกาะตาครุฑ เกาะหม้อ เกาะปริง เกาะไร่ และเกาะไฟไหม้ ฯลฯ โดยกลุ่มเกาะดังกล่าวขนานกับชายฝั่ง พื้นที่บนเกาะปกคลุมไปด้วยป่าดงดิบและรอบเกาะมีปะการังกระจายอยู่โดยรอบ

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม อยู่ในเขตลมมรสุม ฝนจะเริ่มตกตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน เป็นช่วงฝนชุกมาก ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อากาศไม่หนาวจัดเพราะอยู่ไกลจากอิทธิพลของอากาศหนาวพอสมควร แต่บางครั้งอาจมีฝนตกได้เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยพาเอาฝนมาตก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงใต้พัดมาปกคลุม ทำให้อากาศร้อนโดยทั่วไป อากาศจะร้อนสุดในเดือนเมษายน แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำจากทะเลทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก 

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สังคมพืชในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามสามารถจำแนกออกเป็น
ป่าชายเลน มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพันธุ์ไม้หลายชนิด อาทิเช่น แสม แสมขาว แสมทะเล แสมดำ ถั่วขาว ถั่วดำ พังกาหัวสุมดอกขาว พังกาหัวสุมดอกแดง โปรงขาว โปรงแดง ตาตุ่มทะเล หลุมพอทะเล ฝาดดอกแดง ฝาดดอกขาว โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ลำพู ลำแพน ตะบูนดำ ตะบูนขาว และจาก เป็นต้น พืชพื้นล่าง ได้แก่ สำมะง่า เถากระเพาะปลา เหงือกปลาหมอ ปรงทะเล ปรงหนู เป็นต้น

ป่าดงดิบ สภาพป่าในปัจจุบันยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะบริเวณภูเขาสูงของเกาะบางจาก เกาะยิว เกาะช้าง เกาะทรายดำ เกาะพยาม พันธุ์ไม้ที่พบโดยส่วนใหญ่ เช่น กระท้อนป่า ตำเสา ขนุนป่า ขุนไม้ ไข่เขียว เฉียงพร้านางแอ ตะเคียนทอง ตะเคียนทราย ตีนเป็ด เทพทาโร ทุ้งฟ้า ยมหิน สะตอ เลือดควาย มะม่วงป่า กันเกรา หลาวชะโอน เป็นต้น พืชพื้นล่างได้แก่ หวายกำพวน หวายแดง ระกำ มอส เฟิน เป็นต้น

ป่าชายหาด พบได้ตามแนวชายหาดบางส่วนของพื้นที่เกาะพยาม เกาะช้าง และเกาะทรายดำ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สนทะเล จิกทะเล หยีทะเล เตยทะเล และปรงทะเล เป็นต้น ทุ่งหญ้า เป็นสังคมพืชที่ขึ้นบริเวณเกาะยิว เกาะทรายดำ โดยมีหญ้าต่างๆ สลับกับป่าโปร่ง มีหญ้าคาเป็นหลัก

จากการสำรวจการแพร่กระจายของหญ้าทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2545 โดยวิธี Monta tow และดำผิวน้ำ พบหญ้าทะเลที่มีลักษณะแตกต่างกัน จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ หญ้าชะเงาใบสั้นปล้องยาวหรือชะเงาใบฟันเลื่อย หญ้าใบมะกรูด หญ้าผมนางหรือกุ้ยช่ายเข็ม กุ้ยช่ายทะเล หญ้าคาทะเล หญ้าเงาแคระ หญ้าใบสน และ หญ้าเต่าหรือหญ้าชะเงาเต่าพบแพร่กระจายบริเวณเกาะช้าง เกาะพยาม เกาะบางจาก เกาะตาครุฑ เกาะสิน

สัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามสามารถจำแนกออกได้เป็น
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สำรวจพบ 11 ชนิด ได้แก่ ลิงแสม นาก บ่าง กระรอก กระแต หมูป่า ตุ่น ชะมด และหนูชนิดต่างๆ

นก สำรวจพบ 52 ชนิด ได้แก่ นกแก๊ก นกยางชนิดต่างๆ เหยี่ยว นกนางแอ่น นกกวัก นกกางเขน นกกาน้ำเล็ก และนกกินปลาชนิดต่างๆ เป็นต้น

สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย กิ้งก่า ตะกวด งูและเต่าชนิดต่างๆ

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ประกอบด้วยกบ คางคก อึ่งอ่าง เขียด และปาด

แมลง ได้แก่ ผีเสื้อ แมลงปอ แมงมุม จิงโจ้น้ำ แมลงสาปทะเล เป็นต้น

ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ประกอบด้วย ปูก้ามดาบ ปูแสม ปูดำหรือปูทะเล ปูเสฉวน กุ้งแชบ้วย กุ้งเคย กุ้งกะต่อม กุ้งดีดขัน แม่หอบ หอยตะโกรม หอยกะทิ หอยเจดีย์ หอยขาว ปลาตีน ปลาบู่เสือ ปลากระบอก ปลากระทุงเหว ปลาข้างลาย ปลาปักเป้า ปลาสาก ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลาอินทรี แมงกะพรุน หมึก หอยเม่น ปลิงทะเล และปะการัง เป็นต้น

จากการสำรวจแนวปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ซึ่งจะพบบริเวณอ่าวกวางปีป อ่าวแม่ยาย เกาะพยาม เกาะทะลุ อ่าวค้างคาว เกาะช้าง พบปะการังหลายชนิด ได้แก่ ปะการังโขด ปะการังสมอง ปะการังพุ่ม ปะการังเขากวาง ปะการังนิ้วมือ ปะการังโต๊ะ ปะการังผักกาดปะการังอ่อน ซึ่งจะพบบริเวณเกาะทะลุฝั่งตะวันตก กัลปังหา แส้ทะเล ไฮดรอยด์ ดอกไม้ทะเล ซึ่งจะพบบริเวณอ่าวเสียด เกาะช้าง และฝั่งตะวันตกของเกาะทะลุ ปลาทะเลสวยงามเช่น ปลาการ์ตูน ปลาชี้ตังเบ็ดฟ้า ปลาสินสมุทรลายฟ้า ปลาวัวหางเหลือง ปลาไหลมอเรย์จุดขาว ปลาไหลมอเรย์ปานดำ ปลาหิน ปลาสิงโต พบได้ตามกองหินและบริเวณที่มีปะการัง

การเดินทาง
รถยนต์
จากจังหวัดระนองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ระนอง-ตะกั่วป่า) ไปประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงตำบลหงาว เลี้ยวขวาเข้าเทศบาลหงาว เดินทางต่อไปตามทางสายบ้านล่าง-หัวถนน อีกประมาณ 4 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ


เรือ
การเดินทางสู่จุดท่องเที่ยวในปัจจุบันมี 2 เส้นทาง ได้แก่
• เดินทางจากท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลา ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-3.5 ชั่วโมง จะมีเรือเมล์ไว้บริการ

• ท่าเทียบเรืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง มีเรือเช่าเหมาลำให้บริการ 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น