Our social:

อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย

ที่ตั้งและแผนที่
สถานที่ติดต่อ : หมู่ 9 บ้านแก่งหลุ ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี 18180 

โทรศัพท์ / โทรสาร : 0 3622 6431 

อีเมล: 7saonoi@windowslive.com 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายณรงค์ศักดิ์ นามตาปี 
ตำแหน่ง : นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 
ชาวไทย/ชาวต่างชาติ : ยังไม่เสียค่าบริการ 

อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เดิมเป็นวนอุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยกองบำรุง กรมป่าไม้ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๕๔๐ ไร่ โดยมีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี จำนวน ๑๘๙ ไร่ และอยู่ในเขตอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๓๕๑ ไร่ ต่อมาได้โอน ย้ายไปขึ้นกับสำนักงานป่าไม้เขตนครราชสีมา จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ จึงโอนย้ายกลับมาขึ้นกับสำนักงานป่าไม้เขตสระบุรี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ มีการสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อผนวกเข้ากับพื้นที่วนอุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อยเดิม เพื่อเตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยซึ่งได้ดำเนินการมาโดยลำดับ ปัจจุบัน อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑ ปราจีนบุรี (สาขาสระบุรี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย มีพื้นที่ควบคุมดูแล ๔๑.๑๑ ตารางกิโลเมตรหรือ ๒๕,๕๕๕ ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ามวกเหล็ก-ทับกวาง แปลง ๑ ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพญาเย็น และป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตสวนป่าหลังเขา-ท่าระหัด สวนป่าเขาน้อย สวนป่าลำทองหลาง-หนองมะค่า สวนป่าปากช่อง และพื้นที่แปลงปลูกป่าตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ ๕๐ แปลงปลูกป่า FPT.๓/๑ จังหวัดสระบุรี

ขนาดพื้นที่
25917.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนสลับกับที่ราบ ลักษณะพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งมีหน้าดินตื้น มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางอยู่ในช่วง 180-402 เมตร จุดสูงสุดของพื้นที่อยู่บริเวณโชคชัยพัฒนา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 402 เมตร รองลงมาคือเทือกเขาที่อยู่ตอนกลางของพื้นที่ และเทือกเขาบริเวณบ้านดงน้ำฉ่า มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 386 และ 359 เมตร ตามลำดับ บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือของพื้นที่ติดคลองมวกเหล็กซึ่งมีน้ำไหลผ่านตลอดปี และไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักที่อำเภอวังม่วง ส่วนบริเวณตอนกลางของพื้นที่มีลำห้วยเล็กๆ ไหลผ่าน ได้แก่ ห้วยแล้ง ซึ่งเป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น 

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติได้รวบรวมข้อมูลจากการเก็บข้อมูลปริมาณน้ำฝนของสถานีตรวจวัดอากาศมวกเหล็ก ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ประมาณ 10 กิโลเมตร และจากสถานีตรวจอากาศเกษตรปากช่อง ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ประมาณ 26 กิโลเมตร ปรากฏว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม ซึ่งมีระบบการพัดเวียนประจำเป็นฤดูกาล ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดพาเอาความชื้นจากทะเลและมหาสมุทรเข้ามา ทำให้เกิดฤดูฝน ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดพาเอาความหนาวเย็นมาจากตอนเหนือของทวีปเอเชีย ทำให้เกิดฤดูหนาว ส่วนฤดูร้อนจะอยู่ในช่วงเดือนกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีได้ 1,191 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีเท่ากับ 26 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าปลูก เนื่องจากแต่เดิมเป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทำลายมาก่อน ต่อมาจึงได้รับการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟู บางพื้นที่เป็นป่าที่กำลังฟื้นตัวตามธรรมชาติ พื้นที่โดยรอบทั้งหมดเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย มีถนนล้อมรอบ และไม่มีผืนป่าธรรมชาติแห่งอื่นต่อเนื่องหรืออยู่ใกล้เคียง ความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ป่าจึงมีจำกัด

สังคมพืชในอุทยานแห่งชาติสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ป่าดิบริมห้วย ป่าเบญจพรรณ และป่าปลูก

ป่าดงดิบ - พบได้เฉพาะบริเวณที่อยู่ติดลำห้วยมวกเหล็ก และขึ้นกระจายเป็นหย่อม ๆ ตามแนวลำน้ำ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ โสกน้ำ ไคร้ย้อย มะแฟน ยางนา ตะเคียนทอง ยมหอม กระทิง สัตตบรรณ อบเชย มะเดื่อ สาธร เฉียงพร้านางแอ มะหาด เป็นต้น, พันธุ์พืชที่ขึ้นในน้ำและที่ชื้นได้แก่ ไคร้น้ำ สันตะวา ดีปลีน้ำ บัวสาย เฟินก้านดำ กูดเขากวาง กกรังกา ตีนตุ๊กแก เป็นต้น, ไม้เถาได้แก่ นมตำเลีย สะบ้า กระเช้าผีมด แสลงพัน เครือออน บันไดลิง และหวายชนิดต่าง ๆ, นอกจากนี้ยังพบพืชอิงอาศัย เช่น ข้าหลวงหลังลาย กระแตไต่ไม้ เอื้องกระเรกระร่อน เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ - พบอยู่ในบริเวณตอนกลางของพื้นที่ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าที่กำลังฟื้นตัวตามธรรมชาติ เรือนยอดแบ่งได้ 2 ชั้น ไม้ชั้นบนที่สำคัญ คือ ประดู่ป่า สำโรง กะพี้ งิ้วป่า ตะคร้ำ หว้า แสมสาร มะเดื่อ ไม้ชั้นรองได้แก่ โมกหลวง ตีนนก แคหางค่าง ปีบ หนามคนทา หนามมะเค็ด ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบไผ่ป่า ไผ่คาย ขึ้นทั่วไปในพื้นที่ ส่วนพืชพื้นล่างและพืชคลุมดินประกอบด้วยกล้าไม้ของไม้ชั้นรองและไม้พุ่มเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังพบหญ้าคาขึ้นเป็นกลุ่มในบางพื้นที่

ป่าปลูก - จัดเป็นสังคมพืชหลักของอุทยานฯ เนื่องจากพื้นที่ดั้งเดิมได้ถูกทำลายดังที่กล่าวมาแล้ว สังคมชนิดนี้มีกระถินยักษ์เป็นไม้เด่น แต่บางพื้นที่อุทยานฯได้มีการปลูกพันธุ์ไม้ดั้งเดิมเพื่อเสริมสภาพป่า พันธุ์ไม้บริเวณนั้นจะมีความหลากหลายคล้ายสังคมป่าเบญจพรรณ

อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ป่าในเกณฑ์ปานกลาง โดยสำรวจพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 21 ชนิด(อยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม) จัดเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ชนิดคือ เลียงผา จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 11 ชนิดเช่น ลิ่นชวา, หมาจิ้งจอก, พญากระรอกบินหูแดง และเม่นใหญ่ เป็นต้น

ในการสำรวจเบื้องต้นพบนก 78 ชนิด จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 74 ชนิด เช่น เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ, นกเค้าหูยาวเล็ก, นกพญาไฟสีกุหลาบ และนกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกรวม 40 ชนิด ผีเสื้อกลางวัน 48 ชนิด และแมลงปอ 13 ชนิด(อยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม)

การเดินทาง
รถยนต์
จังหวัดสระบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามถนนพหลโยธิน ระยะทาง 108 กิโลเมตร และตามทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือระยะทาง 113 กิโลเมตร จากตัวเมืองสระบุรีโดยใช้เส้นทางสายหลัก คือ ถนนมิตรภาพ ผ่านอำเภอแก่งคอยไปมวกเหล็ก ระยะทางจากตัวเมืองสระบุรี ถึงทางแยกเข้าสู่ทางหลวงสายมวกเหล็ก-หนองย่างเสือ ระยะทาง 41 กิโลเมตร จากทางแยกเข้าสู่อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยระยะทาง 12 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ด้านขวาตรงข้ามวัดน้ำตกเจ็ดสาวน้อย


รถไฟ
การเดินทางโดยรถไฟ ต้องนั่งรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ รถจะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีสระบุรี สถานีแก่งคอย และสถานีมวกเหล็ก จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทางสายสระบุรี - แก่งคอย - มวกเหล็ก ไปลงหน้าอุทยานแห่งชาติ


รถโดยสารประจำทาง
การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางเส้นทางกรุงเทพ-สระบุรี หรือกรุงเทพฯ – ลพบุรี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง รถจะไปจอดส่งผู้โดยสารที่สถานีขนส่งสระบุรี จากนั้นนั่งรถโดยสารสระบุรี-แก่งคอย – มวกเหล็ก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที รถจะไปจอดส่งผู้โดยสารที่หน้าอุทยานแห่งชาติ หรือโดยสารรถโดยสารเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ลงที่ตลาด อ.ส.ค. จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทางสายสระบุรี-แก่งคอย-มวกเหล็ก ไปลงหน้าอุทยานแห่งชาติ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น