Our social:

อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง

ที่ตั้งและแผนที่
อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง 
หมู่ 1 ต.คลองกวาง อ.นาทวี จ.สงขลา 90000 

โทรศัพท์ : 0 7453 1696 (VoIP), 0 74 530-032 

อีเมล: numkhaing2556@hotmail.co.th 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายธรรมนูญ สุวรรณมณี 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท 
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท 

อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอนาทวี และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีสภาพป่าและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยจุดเด่นที่น่าสนใจ สวยงาม เช่น น้ำตกจำนวนหลายแห่ง ทั้งยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์เป็นฐานที่มั่นของการสู้รบกับโจรจีนคอมมิวนิสต์ ที่เป็นหลักฐานให้ศึกษาถึงสถานที่และวัตถุทางประวัติศาสตร์ของการสู้รบอันยาวนาน มีเนื้อที่ประมาณ 132,500 ไร่ หรือ 212 ตารางกิโลเมตร 

ตามตำนานเล่าขานกันมาแต่โบราณ เขาน้ำค้างเป็นยอดเขาสูง มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี สมัยโบราณคนที่เคยขึ้นไปบนยอดเขาจะพบว่ามีน้ำค้างเป็นเกล็ดอยู่ตามยอดหญ้า ลักษณะเป็นใยแมงมุม แม้แต่ตอนเที่ยงวันยังมีน้ำค้างประปรายอยู่บนยอดหญ้า ซึ่งเป็นสภาพที่แปลกและแตกต่างไปจากที่อื่นจึงเรียกขานกันว่า “เขาน้ำค้าง” 

เขาน้ำค้างเป็นเสมือนเขตหวงห้ามเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี เริ่มตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอยู่ในความยึดครองของผู้ก่อการร้ายโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จ.ค.ม.) เป็นบริเวณที่มีพื้นที่ภูมิประเทศเป็นถิ่นทุรกันดาร เทือกเขาสลับซับซ้อน ทำให้เป็นฐานปฏิบัติการใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโจรจีนคอมมิวนิสต์แถบนี้ แต่ในที่สุดจากการปฏิบัติการตามแผนยุทธการใต้ร่มเย็น โดยนำนโยบายการเมืองนำการทหารกองทัพภาคที่ 4 และหน่วยทหารผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 (พตท.43) ได้นำนโยบายนี้เข้าปฏิบัติการสามารถเข้ายึดค่ายปฏิบัติการของโจรจีนคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2523 ทำให้โจรจีนคอมมิวนิสต์สลายตัวไปในที่สุด 

ในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2526 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2526 นายเถลิง ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้สั่งการให้กรมป่าไม้ ดำเนินการสำรวจบริเวณภูน้ำค้าง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ซึ่งเดิมเคยเป็นฐานที่มั่นของโจรจีนคอมมิวนิสต์ เพื่อพิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และราษฎรตำบลบ้านโตนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ได้มีหนังสือลงวันที่ 3 สิงหาคม 2526 ขอให้กรมป่าไม้พิจารณาพื้นที่บริเวณน้ำตกพระไม้ไผ่และพื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียงของเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งมีน้ำตกและธรรมชาติที่สวยงาม สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ 

กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/2786 ลงวันที่ 23 กันยายน 2526 เสนอกรมป่าไม้ กรมป่าไม้มีคำสั่ง ที่ 1412/2526 ลงวันที่ 26 กันยายน 2526 ให้นายสมภพ สุขวงศ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปสำรวจหาข้อมูลบริเวณเทือกเขาน้ำค้าง อำเภอนาทวี น้ำตกพระไม้ไผ่ ในบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และบริเวณใกล้เคียง จากรายงานการสำรวจตามหนังสือ ที่ กษ 0713/พิเศษ ลงวันที่ 14 มกราคม 2527 ปรากฏว่า บริเวณที่สำรวจในพื้นที่ป่าเขาน้ำค้าง ป่าเขาแคน ป่าควนสยา ป่าควนเขาไหม้ และป่าควนสิเหรง เนื้อที่ประมาณ 220 ตารางกิโลเมตร มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่น่าสนใจสวยงาม เช่น น้ำตกจำนวนหลายแห่ง ตลอดจนมีสถานที่ประวัติศาสตร์ฐานที่มั่นของโจรจีนคอมมิวนิสต์เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ 

กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือด่วนมากที่ กษ 0713/717 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2527 เสนอกรมป่าไม้ ซึ่งได้มีคำสั่งที่ 309/2527 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2527 ให้ นายสมภพ สุขวงศ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปดำเนินการจัดตั้งและปรับปรุงป่าเขาน้ำค้าง ท้องที่อำเภอนาทวีและอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นอุทยานแห่งชาติ จากผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่มีอิทธิพลมาก่อน แม้ว่าทางราชการจะปราบปรามขั้นเด็ดขาดแล้ว โจรจีนคอมมิวนิสต์บางส่วนที่ยังเหลืออยู่พยายามกลับมาสร้างอิทธิพลและได้วางกับระเบิดชนิดต่างๆ ไว้ทั่วพื้นที่ ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างได้ประสานงานกับฝ่ายทหาร ดำเนินการขจัดปัญหาและอันตรายให้เสร็จสิ้น 

อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดิน ป่าเขาแดน ป่าเขาน้ำค้าง ป่าควนสิเหรง ป่าควนสยา และป่าควนเขาไหม้ ในท้องที่ตำบลคลองทราย ตำบลคลองกวาง ตำบลทับช้าง ตำบลประกอบ อำเภอนาทวี และตำบลปริก ตำบลสำนักแต้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอน 127 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 65 ของประเทศ

ขนาดพื้นที่
132500.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างที่ นค 1 (คลองยน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างที่ นค.2 (เกาะหมี)
หน่วยจัดการต้นน้ำคลองนาทวี

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนเป็นแนวยาวไปตลอดจนถึงพรมแดนประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วยยอดเขาที่สำคัญ คือ ควนสยา ควนเขาไหม้ โดยมียอดเขาน้ำค้าง เป็นยอดเขาที่สูง สูงประมาณ 648 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น คลองนาทวี คลองปริก คลองทับช้าง คลองทรายขาว เป็นต้น ดินจะมีลักษณะเป็นดินร่วน ดินเหนียว หรือดินเหนียวปนทราย ส่วนลักษณะหินเป็นพวกหินปูน และหินแกรนิตเป็นส่วนใหญ่ 

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงทำให้ฝนตกชุก พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง เป็นป่าผืนใหญ่ติดต่อกันและที่สำคัญตั้งอยู่ในเขตโซนร้อน ลักษณะลมฟ้าอากาศทั่วไปจึงเป็นแบบมรสุมเมืองร้อนและได้รับมรสุมทั้งปี โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงทำให้มีฝนตกชุกและมีลักษณะลมฟ้าอากาศคล้ายคลึงกันเกือบตลอดปี ซึ่งมีฤดูฝนอันยาวนานและฝนตกกระจายตลอดทั้งปี ฤดูฝนอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม – มกราคม และฤดูร้อน ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน

พืชพรรณและสัตว์ป่า
พื้นที่ป่าส่วนใหญ่จะเป็นป่าดงดิบชื้น มีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นอุดมสมบูรณ์ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจได้แก่ หลุมพอ ตะเคียน พยอม กระบากดำ ยาง จำปา สยาแดง ไข่เขียว เปรียงขานาง แต้ว มังคะ พิกุลป่า มะม่วงป่า เป็นต้น และมีพืชพื้นล่างได้แก่ หมากชนิดต่างๆ หวาย ไผ่ ระกำ กล้วยไม้ เฟิน มอส เป็นต้น

สัตว์ป่าที่สำรวจพบ ได้แก่ หมูป่า หมี เก้ง เลียงผา ลิงหางสั้น ชะนี สมเสร็จ เสือดำ กระจง อีเห็น เต่า ตะกวด และนกนานาชนิด เช่น นกเงือก นกหว้า ไก่ฟ้า นกกระทาดง นกยูง นกขุนทอง นกกางเขน เป็นต้น 

การเดินทาง
โดยรถยนต์
เส้นทางที่ 1 จากอำเภอเมืองจังหวัดสงขลาไปตามถนนสายสงขลา-นาทวีถึงแยกป่าชิงอำเภอจะนะ ระยะทาง 35 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาผ่านแยกเข้าอำเภอจะนะถึงอำเภอนาทวี ระยะทาง 24 กิโลเมตร จากอำเภอนาทวี ผ่านสามแยกบ้านสะท้อน บ้านนาปรัง ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง ระยะทาง 27 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 86 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 จากอำเภอหาดใหญ่ไปทางแยกคลองหวะตามถนนสายหาดใหญ่-สะเดา ถึงอำเภอสะเดา ระยะทาง 57 กิโลเมตร จากอำเภอสะเดา ผ่านบ้านม่วง บ้านเกาะหมี ตำบลสำนักแต้ว ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง ระยะทาง 27 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 84 กิโลเมตร

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น