Our social:

อุทยานแห่งชาติหาดวนกร

ที่ตั้งและแผนที่
หมู่ 7 ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ 77130 

โทรศัพท์ : 0 3261 9030 
โทรสาร : 0 3251 0272 

อีเมล : wanakorn77130@hotmail.co.th 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายพีรวัฒิ สิโรตม์พิพัฒ 
ตำแหน่ง : นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท 
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท 

อุทยานแห่งชาติหาดวนกร มีที่ทำการอยู่ริมทะเลห่างจากตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประมาณ 22 กิโลเมตร ระหว่างกิโลเมตรที่ 345 - 346 ถนนเพชรเกษม แยกจากถนนเพชรเกษม ตามถนนลาดยางเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร มีทางรถไฟสายใต้ผ่านตอนกลาง ของพื้นที่มีอาณาเขตรับผิดชอบทั้งบนบกและในทะเล ดังนี้ 
ทิศเหนือ ติดที่ดินกรรมสิทธ์บ้านวังด้วน และค่าย ตชด. 
ทิศใต้ จดห้วยคอกม้า และสถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
ทิศตะวันออก จดทะเลด้านอ่าวไทย 
ทิศตะวันตก จดถนนเพชรเกษม 

อุทยานแห่งชาติหาดวนกร ชายหาดอันลือชื่อของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ทอดตัวเป็นแนวยาวลงไปในทะเล ทิวทัศน์ที่เงียบสงบ หาดทรายขาวสะอาด บนฝั่งมีทิวสนทะเลและสนประดิพัทธ์เป็นแนวขนานกับทะเล มีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 23,750 ไร่ หรือ 38 ตารางกิโลเมตร ในเขตตำบลห้วยทราย ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง และตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ที่ปลูกขึ้นใหม่ได้แก่ สนทะเล สนประดิพัทธ์ สะเดา เป็นต้น 

อุทยานแห่งชาติหาดวนกร แต่เดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าวังด้วนและป่าห้วยยาง เป็นที่ตั้งของสวนป่าห้วยทราย ท้องที่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ สวนป่าห้วยยาง สวนรุกขชาติห้วยยาง และสถานีวนกรรมห้วยยาง ท้องที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาสถานีวนกรรมห้วยยางได้ถูกยกเลิกไป เมื่อทางกรมป่าไม้มีนโยบายที่จะจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ จึงได้โอนพื้นที่แห่งนี้มาให้กองอุทยานแห่งชาติดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2532 เป็นต้นมา และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังด้วน ป่าห้วยยาง และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมเนื้อที่ 38 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2535 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 76 ของประเทศไทย

ขนาดพื้นที่
23750.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดวนกร

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพธรณี (Geological Features) อุทยานแห่งชาติหาดวนกรประกอบด้วยพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศแบบที่ราบแนวชายฝั่งทะเลและแนวชายฝั่งยกตัว มีระดับความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 0-5 เมตร อยู่ทางตอนกลางของพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่อุทยานแห่งชาติมีสัณฐานเป็นพื้นที่แบบที่ราบลุ่มชายฝั่ง ลักษณะพื้นที่ค่อยๆลาดลงเป็นพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ จนถึงราบเรียบ ( Slightly undulating to nearly level ) พื้นที่รอบนอกแนวเขตอุทยานฯ มีการทำการเกษตร จำพวกสวนมะพร้าวโดยรอบ พื้นที่ส่วนมากของอุทยานฯอยู่ติดกับแนวชายฝั่งทะเล ชายหาดมีน้ำทะเลท่วมถึง มีเกาะเล็กๆ 2 เกาะ เรียกว่าเกาะจานและเกาะท้ายทรีย์ ซึ่งทั้งสองเกาะ เชื่อมติดกัน ลักษณะทางธรณีของเกาะเป็นหินอัคนีและหินทราย มีแนวชายหาดทรายสั้นๆ ลักษณะของทรายค่อนข้างละเอียดเกิดจากเศษซากปะการัง และการขับถ่ายของสัตว์ที่กินปะการังเป็นอาหาร ที่เหลือเป็นแผ่นดิน ลักษณะของพื้นที่ที่เป็นแผ่นดินจะลาดลงจากทิศตะวันตกมาทางทิศตะวันออก ทำให้ทางด้านทิศตะวันตกมีความลาดชันมากกว่าทางทิศตะวันออก

ลักษณะภูมิอากาศ
โดยทั่วไปเป็นมรสุมเขตร้อน และได้รับอิทธิพลจากลมทะเล จะมีความแตกต่างของช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนอย่างเห็นได้ชัดเจน ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ถึงเดือน พฤศจิกายน รวมเป็นระยะเวลา 6-7 เดือน ฤดูหนาวจะเริ่มตั้งแต่เดือน ธันวาคม ถึงเดือน มกราคม ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือน เมษายน เป็นฤดูร้อน และแห้งแล้งเป็นเวลา 3 เดือน
ปริมาณน้ำฝน มีปริมาณฝนตกรวมตลอดปี 1,013.52 มิลลิเมตร เดือนตุลาคมมีปริมารฝนตกมากที่สุดถึง 288.32 มิลลิเมตร และเดือนธันวาคมมีฝนตกน้อยที่สุด เพียง 12.72 มิลิเมตร
อุณหภูมิ จะมีอุณหภูมิแตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างเวลากลางวันและเวลากลางคืน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 27.71 องศาเซลเซียส ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในเดือน พฤษภาคม 29.45 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ในเดือน มกราคม คือ 25.65 องศาเซลเซียส
ความชื้นสัมพัทธ์ มีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปี 75.97 เปอร์เซ็นต์ซึ่งมีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยสูงสุด 82.4 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนตุลาคม และมีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยต่ำสุดในเดือน ธันวาคม คือ 69.1 เปอร์เซ็นต์
ทัศนวิสัย ยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนวันในรอบหนึ่งปี ที่ท้องฟ้ากระจ่างปราศจากเมฆ แต่เท่าที่ปรากฏในช่วงฤดูร้อนอากาศจะปลอดโปร่งตลอดวัน ส่วน
ในฤดูหนาวช่วงเช้า ท้องฟ้าค่อนข้างสลัวและอาจมีหมอกบ้าง แต่จะโปร่งในช่วงสายถึงเย็นและฤดูฝนท้องฟ้าจะมีเมฆมาก ฝนตกค่อนข้างนาน ทำให้ทัศนวิสัยการมองเห็นในช่วงดังกล่าวไม่ดี

พืชพรรณและสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติหาดวนกรมีการศึกษาพันธุ์พืช ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลเฉลี่ย (SML) ซึ่งพบพืชที่อยู่ในระดับความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระหว่าง 0-5 เมตร พบว่ามีพันธุ์พืชทั้งหมด 116 ชนิด
ซึ่งจากการศึกษาชนิดพรรณไม้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ระดับความสูงเพียงอก มากกว่า 4.5 เซนติเมตร ของป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดวนกร อำเภอเมืองและ
อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่าพรรณไม้ที่มีความหนาแน่นสัมพัทธ์มากที่สุด ได้แก่ สะแกนา (Combretum quadranguare) รองลงมาคือ สะเดาไทย(Axadirachta indica) ขันทองพยาบาท (Suregada multiflorum) กระถินณรงค์ (Acacia auiculiformisr) และเปล้าใหญ่ (Croton oblongifolius) ตามลำดับ พรรณไม้ที่มีความถี่สัมพัทธ์มากที่สุด ได้แก่ สะเดาไทย รองลงมา ขันทองพยาบาท สะแกนา กระถินณรงค์ และเปล้าใหญ่ ตามลำดับ พรรณไม้ที่มีความเด่นสัมพัทธ์สูงที่สุด ได้แก่ กระถินณรงค์ รองลงมา สะเดาไทย สะแกนา ขันทองพยาบาท และเปล้าใหญ่ ตามลำดับ จากคำกล่าวข้างต้น กล่าวได้ว่า สะเดาไทย ขึ้นกระจายอยู่ทั่วทั้งพื้นที่ โดยพิจารณาจากค่าดรรชนีความสำคัญ ของชนิดพันธุ์ไม้ในนิเวศวิทยา และพบว่า สะเดาไทย มีค่าดรรชนีความสำคัญทางนิเวศสูงสุด รองลงมา สะแกนา กระถินณรงค์ ขันทองพยาบาท และเปล้าใหญ่ ตามลำดับ พื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดวนกร เป็นพื้นที่สวนป่า ไม้ที่ใช้ในการปลูกได้แก่ สะเดาไทย กระถินณรงค์ สนทะเล ( Casuarina equisetifolia) และในการศึกษาพบว่า สะเดาไทย เป็นพรรณไม้ที่มีค่าดรรชนีความสำคัญทางนิเวศสูงสุด เนื่องจากสะเดาไทยเป็นไม้ที่ปลูกขึ้นดีในพื้นที่และมีการปลูกเป็นแถวเป็นแนวจำนวนมากกว่าไม้อื่นๆ
จำนวนชนิดพรรณไม้ พรรณไม้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ระดับความสูงเพียงอก ตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตร ขึ้นไปมีจำนวน 71 ชนิดพันธุ์ เช่น สะเดาไทย (Axadirachta indica) สะแกนา (Combretum quadranguare) กระถินณรงค์ (Acacia auiculiformisr) ขันทองพยาบาท (Suregada multiflorum) เปล้าใหญ่ (Croton oblongifolius) เป็นต้น ชนิดพันธุ์ไม้ พรรณไม้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ระดับความสูงเพียงอก ตั้งแต่ 4.5 เซนติเมตร ขึ้นไป (ไม้ใหญ่) ได้แก่ กรวยป่า (Casaria grewiaefolia) ตะขบป่า (Flacourtia spp.) พะยอม (Shorea roxburghii) เสลา (Lageratroemia spp.) เป็นต้นลักษณะโครงสร้างของป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดวนกร พบว่าพรรณไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ขนาดเล็ก คือมีความสูงอยู่ในช่วง 4.0 – 6.5 เมตร พรรณไม้ที่พบจากมากไปน้อยได้แก่ พลับพลา ( Grewia microcos) สาธร Millettia leucantha) สมอตีนนก (Vitex spp.) เขลง (Dialium cochinchinensis) เป็นต้น สำหรับพรรณไม้ที่มีความสูงตั้งแต่ 9.0 เมตรขึ้นไป เป็นพรรณไม้ที่ได้ทำการปลูกสร้างตั้งแต่เป็นสวนป่ามาก่อนแล้ว ได้แก่ สะเดาไทย มะฮอกกานี (Swietenia macrophylla) สนทะเล เป็นต้น
พื้นที่ป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดวนกร แต่เดิมเป็นพื้นที่ที่มีการสร้างสวนป่ามาก่อนแล้ว ซึ่งพรรณไม้ที่ปลูกไว้ได้แก่ สะเดาไทย กระถินณรงค์ มะฮอกกานี เป็นต้น และถูกปล่อยทิ้งไว้ให้มีการทดแทนเองตามธรรมชาติ และพบว่า สะแกนา เป็นไม้ป่าธรรมชาติเป็นไม้เดิมที่มีอยู่ในพื้นที่และมีการแก่งแย่งการเจริญเติบโตขึ้นมาแทนที่ไม้ปลูกซึ่งเป็นไม้เบิกนำในพื้นที่ และพบว่าเป็นพรรณไม้ที่มีความหนาแน่นสูงสุดในพื้นที่ด้วย
พันธุ์สัตว์
พันธุ์สัตว์ (Fauna) เนื่องจากอุทยานแห่งชาติหาดวนกร มีพื้นที่รับผิดชอบทั้งทางบกและทางน้ำ จึงแบ่งสัตว์ที่พบตามที่อยู่อาศัย (Habitats) ได้ดังนี้
สัตว์บก แบ่งเป็น
1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) อุทยานแห่งชาติหาดวนกร มีป่าที่เกิดเองตามธรรมชาติน้อยทำให้ไม่ค่อยพบเห็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่พบเห็น ได้แก่ กระต่ายป่า (Lepus peguensis) พังพอนธรรมดา (Herpestes javanicus) สุนัขจิ้งจอก (Canis aureus) กระรอกปลายหางดำ (Callosciurus caniecps) เป็นต้น
2. นก (Avian Fauna) โดยมากจะเป็นนกประจำถิ่น เช่น นกกระแตแต้แว้ด (Vanellus indicus) นกกวัก (Amaurornis phoenicurus) นกเค้าแมว (Glancidium cusculoides) นกตะขาบทุ่ง (Coracias benghalensis) นกบั้งรอกใหญ่ (Phaenicophaeus tristis) นกแซงแซวหางบ่วง (Dicrurus paradiseus) นกแซงแซวหางปลา (Dicrurus macrocerces) ไก่ป่า (Gallus gallus) เป็นต้น และมีนกอพยพบ้าง เช่น นกขุนทอง (Gracula religiosa) เป็ดลาย (Anas querquedula) นกยางกรอกพันธุ์จีน (Ardeola bacchus) ที่จะพบได้ช่วงต้นฤดูหนาวถึงต้นฤดูฝน
3. สัตว์เลื้อยคลาน (Reptiles) ประกอบด้วย งูกะปะ (Calloselasma rhodestomo) จิ้งเหลนบ้าน (Mabuya multifasciata) แย้ (Leiolepis belliana) และมีพบ งูจงอาง (Ophiophagus Hannah) งูเหลือม (Python reticulates) งูเขี้ยวพระอินทร์ (Chrysopelea ornate) บ้างแต่ไม่มากนัก
4. สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (Amphibians) สำหรับในพื้นที่อุทยานฯ จะพบจำพวก กบและคางคก (Frogs and Toads) ส่วนชนิดอื่น ๆ ยังไม่มีการสำรวจ (รายละเอียดตามตารางที่ 2)

สัตว์น้ำ แบ่งได้ดังนี้
1. ปลาน้ำจืด (Fresh Fish) เนื่องจากพื้นที่อุทยานฯ มีแหล่งน้ำธรรมชาติน้อย ปลาน้ำจืดที่พบโดยมากได้แก่ ปลาดุก (Catfish) ปลาช่อน (Snakeheads) ปลาตะเพียน (Carps) ปลาซิว (Dinio spp.) เป็นต้น
2. สัตว์ทะเล (Sea animals) แบ่งได้ 4 พวก ดังนี้
2.1 ปลาทะเลที่พบตามแนวชายฝั่ง โดยมากเป็นปลาที่รับประทานได้ และพบได้ทั่วไปเช่น ปลากระบอก (Muail dussumeri) ปลากระเบน (String ray) และมีที่รับประทานไม่ได้ เช่นปลาปักเป้าหนามทุเรียน (Diodom liturosus) ปลาอุบ (Batrachus grunniens) ปลาบู่จิ๋ว (Ctenogobiops crocineus) เป็นต้น
2.2 ปลาที่พบในทะเลหรือตามแนวปะการัง โดยมากจะเป็นปลาใหญ่หรือปลาสวยงาม เช่น ปลากระเบนจุดฟ้า (Taeniura lymma) ปลาข้าวเม่าน้ำลึก (Holoceentrus rubrum) ปลาผีเสื้อปากยาว (Chelmon rostratus) ปลาสลิดหินบั้ง (Abudefduf bengalensis) ปลาการ์ตูนอินเดียแดง (Amphiprion penideraion) ปลานกแก้วคางลาย (Scarus quoyi) เป็นต้น
2.3 ปะการัง สามารถพบเห็นได้ที่เกาะในเขตรับผิดชอบของอุทยานฯ ได้แก่ ปะการังพุ่มดอกไม้ (Pocillopora damicornis) ปะการังเขากวาง (Acropora Formosa) ปะการังโต๊ะ (Acropora hyacinthus) ปะการังช่องดาว (Astreopora ocellata) ปะการังผักกาดใบใหญ่( Pavana lata ) ปะการังดอกเห็ด ( Fungia fungites) ปะการังโขด ( Porites lutea) เป็นต้น
 สัตว์ทะเลอื่นๆที่พบเห็น ตามแนวชายหาด ได้แก่ หอยนางรม( Oyster) หอยแมลงภู่ ( Mytilus viridis ) หอยเสียบ ( Donax faba ) หอยตลับ ( Pocker – Chip Venus) ปูหนุมานจุดแดง( Matuta banksii) ปูลม ( Ghost Crab) และพวกที่พบในท้องทะเล เช่น หมึกกระดอง ( Sepia pharaonis) หอยจอบ ( Pinna sp.) หอยสังข์จุกพราหมณ์
( Cymbiola nobillis) และในบางครั้งอาจพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โลมาหัวบาตร ( Neophocaena phocaenoides) เข้ามาหากินบริเวณหน้าชายหาดด้วย

สภาพสำคัญทางนิเวศวิทยาและพันธุกรรม ( Ecological and Genetical Significances ) อุทยานแห่งชาติหาดวนกรมีแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งบนบกและในทะเล ทำให้เหมาะอย่างยิ่งต่อการศึกษาข้อความแตกต่างของทั้งสองระบบนิเวศ โดยระบบนิเวศทางบกสามารถศึกษาได้ตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ส่วนในระบบนิเวศทางทะเลศึกษาได้ที่แนวปะการังบริเวณเกาะจานและเกาะท้ายทรีย์

การเดินทาง
การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร ท่านสามารถมาได้ 3 วิธีดังนี้
1. โดยรถยนต์ส่วนตัว : เริ่มจากกรุงเทพมหานคร วิ่งตามถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 331 ขับเลยไปประมาณ 200 เมตร จะพบป้ายอุทยานแห่งชาติหาดวนกร และทางเข้า เลี้ยวเข้าไป ประมาณ 150 เมตร พบด่านตรวจ ชำระค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยาน ฯ ขับตรงเข้าไปอีก 3.0 กิโลเมตรก็จะพบกับแนวชายหาดที่สวยงามของอุทยานแห่งชาติหาดวนกร
2.โดยรถยนต์โดยสารประจำทาง : เริ่มจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ โดยรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 1 สาย 66 กรุงเทพฯ – บางสะพาน อัตราค่าโดยสาร 250 บาท (ข้อมูลค่าโดยสารเดือน กุมภาพันธ์ 2550) ปลายทาง อุทยานแห่งชาติหาดวนกรหรือรถโดยสารประจำทางชั้น 2 ที่วิ่งตั้งแต่ชุมพรลงไป ลงหน้าทางเข้าอุทยาน ฯ ชำระค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานที่ด่านตรวจ และเดินหรือโดยสารรถเข้าไปในอุทยานฯอีก 3.0 กิโลเมตร ก็จะพบหาดทรายที่สวยงาม
3.โดยรถไฟ : โดยเริ่มที่สถานีรถไฟธนบุรี สาย ธนบุรี –หลังสวน ลงที่สถานีปลายทาง ห้วยยาง แล้วจึงต่อรถรับจ้างเข้าอุทยานฯ โดยชำระค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานที่ด่านตรวจและนั่งต่อเข้ามาอีก 3.0 กิโลเมตร ก็จะพบกับความสวยงามของอุทยานแห่งชาติหาดวนกร
 


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น