Our social:

อุทยานแห่งชาติตาดโตน

ที่ตั้งและแผนที่
ตำบลนาฝาย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ 
36000 

โทรศัพท์ : 044-853-293 

อีเมล: tatton_np@hotmail.com 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายนพวงค์ พฤกษชาติ 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 

ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท 
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท 

ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 208 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2523 เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 23 ของประเทศไทย เนื้อที่ 135,737.50 ไร่ หรือ ประมาณ 217.18 ตารางกิโลเมตร โดยกำหนดที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูแลนคาด้านทิศใต้ ท้องที่ ตำบลนาฝาย ตำบล นาเสียว ตำบลห้วยต้อน และตำบลท่าหินโงม อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน 
ทิศเหนือ จรด ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูแลนคาด้านทิศใต้ ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมืองชัยภูมิ และ ตำบลเก่าย่าดี อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ 
ทิศตะวันออก จรด ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเตรียมการสงวนหมายเลข 10 แปลง 1 ( ป่าภูโค้ง ) อำเภอแก้งคร้อ และ ตำบลนาเสียว อำเภอเมืองชัยภูมิ 
จังหวัดชัยภูมิ 
ทิศใต้ จรด ตำบลนาฝาย อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ 
ทิศตะวันตก จรด ทางหลวงจังหวัด หมายเลข 2159 สายชัยภูมิ - หนองบัวแดง 
ตำบลห้วยต้อน อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ 

ขนาดพื้นที่
135737.50 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ตน.๒
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ตน.๓
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ตน.๔
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ตน.๕
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ตน.๖

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะโดยทั่วไปของอุทยานแห่งชาติตาดโตนประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ของอุทยานทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะมีเขาภูเขียว ภูกลาง และภูแลนคา ซึ่งจะมีระดับสูงสุด 905 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นที่อุทยานทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะมียอดภูโค้ง ซึ่งเป็นยอดที่มีความสูงสุดของอุทยานแห่งชาติตาดโตน โดยมีความสูงประมาณ 945 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ตอนล่างทางทิศใต้ของอุทยานจะเป็นพื้นที่ลาดมีทิศทางด้านลาด (aspect) ทางทิศใต้ พื้นที่ด้านนี้จะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 200 เมตร สำหรับความลาดชัน (Slope) ของพื้นที่ จะมีพื้นที่ค่อนข้างราบ ทางตอนกลางของพื้นที่ตามหุบเขาที่ลำปะทาวไหลผ่าน จะมีพื้นที่ค่อนข้างราบบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอุทยาน พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานจะมีความลาดชันประมาณ 10 – 15 %

ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติตาดโตน ตั้งอยู่ในบริเวณที่ได้รับอิทธิพลของทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ มีการแบ่งฤดูกาลออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงมกราคม จากข้อมูลภูมิอากาศของสถานีตรวจอากาศ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ซึ่งวัดและรวบรวมโดยกองภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงระหว่างปี 2504 – 2533 พอสรุปได้ ดังนี้
อุณหภูมิ อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 27.60 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอุณหภูมิสูงสุดคือเดือน เมษายน มีอุณหภูมิถึง 42.60 องศาเซลเซียสและเดือนที่มีอุณหภูมิต่ำสุดคือเดือน มกราคม อุณหภูมิต่ำสุด 7 องศาเซลเซียส
ความชื้นสัมพันธ์ ความชื้นสัมพันธ์เฉลี่ยตลอดปี 47 % สำหรับความชื้นสัมพันธ์สูงสุดเฉลี่ยจะเกิดในเดือนกันยายน ซึ่งสูงถึง 93 % ส่วนความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ยจะเกิดในเดือนมีนาคมซึ่งมีเพียง 35 %
ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1153.50 มิลลิเมตร เดือนที่มีปริมาณฝนตกมากที่สุดคือเดือนกันยายน ซึ่งวัดได้ถึง 270.50 มิลลิเมตร ส่วนเดือนที่มีปริมาณฝนน้อยที่สุด คือ เดือนมกราคม วัดได้โดยเฉลี่ย 3.30 มิลลิเมตร 

พืชพรรณและสัตว์ป่า
พันธุ์พืช
อุทยานแห่งชาติตาดโตน ตั้งอยู่ที่ระดับความสูงระหว่าง 200 - 945 เมตร จากระดับ น้ำทะเลปานกลาง ดังนั้น สภาพสังคมพืชจึงแตกต่างไปตามระดับความสูง พอจำแนกได้เป็น 2 ชนิด คือ
ป่าเต็งรัง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน พบป่าชนิดนี้ขึ้นกระจัดกระจาย มีเนื้อที่ประมาณ 94.93 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ร้อยละ 43.71 ของพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ ความสูงของเรือนยอด ชั้นบนประมาณ 15 - 20 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญในชั้นนี้ ได้แก่ ยางพลวง รัง แดง ตะแบกเลือด มะกอกเกลื้อน ก่อแพะ และมะค่าแต้ ส่วนเรือนยอดในชั้นรอง มีไม้ขนาดเล็กมีความสูงประมาณ 5 - 10 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญในชั้นนี้ได้แก่ ชิงชัน ตาลเหลือง ยอเถื่อน กระท่อมหมู มะม่วงป่า ติ้วแดง และขว้าว ไม้พื้นล่างประกอบด้วย ลูกไม้ของไม้ชั้นบนเป็นส่วนใหญ่ และหญ้าเพ็กขึ้นอยู่ทั่วไป พันธุ์ไม้ชนิดอื่น เช่น กระดูกอึ่ง ลูกใต้ใบ เฟิร์น หมักหม้อ นางนวล กาวเครือ และหนอนตายหยาก เป็นต้น
ป่าดิบแล้ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาดโตนพบป่าชนิดนี้ขึ้นกระจัดกระจายตามลำห้วย มีพื้นที่ประมาณ 35.01 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 16.12 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีลักษณะทางด้านตัวเรือนยอด แบ่งเป็น ชั้นเรือนยอดชั้นบนสูง 25 - 30 เมตร ไม้สำคัญ ได้แก่ พะองค์ กระบก จิกดง หาด ตีนเป็ดเขา ค้างคาว และติ้วแดง เรือนยอดไม้ชั้นรองมีความสูงประมาณ 20 - 25 เมตร พันธุ์ไม้สำคัญในชั้นนี้ ได้แก่ พะยอม มะกล่ำต้น หว้า กระเบากลัก กีบตอง มะส้าน และก่อเดือย เรือนยอดไม้ชั้นสามมีความสูงประมาณ 15 - 20 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ยางแดง มะแฟน เสม็ดเขา พลองกินลูก ลำดวน และกะอวม ส่วนเรือนยอดในชั้นของไม้ขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 10 - 15 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น แดง มะหาด มะพอก เปล้าน้อย เปล้าใหญ่ พุดป่า และ พีพวน เป็นต้น

สัตว์
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ หมูป่า เก้ง อีเห็นหางลาย พังพอนธรรมดา อ้นเล็ก กระต่ายป่า กระรอกบินเล็กแก้มแดง กระจ้อน เป็นต้น
สัตว์ปีก ได้แก่ นกจับแมลงหัวเทา นกจับแมลงคอแดง นกจับแมลงอกสีฟ้า นกปรอดเหลืองหัวจุก นกแซงแซวหางปลา นกนางแอ่นบ้าน นกโพระดกธรรมดา นกกระปูดใหญ่ นกตะขาบทุ่ง นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง นกเปล้าธรรมดา เหยี่ยวขาว ไก่ป่า นกกระทาทุ่ง นกกางเขนบ้าน นกเค้าโมงหรือนกเค้าแมว เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ ตะกวด งูเห่า งูทับสมิงคลา งูเหลือม งูกะปะ กิ้งก่าบินปีกสีส้ม จิ้งเหลน จิ้งเหลนภูเขาลายจุด จิ้งจกบ้านหางหนาม เป็นต้น
แมลง ได้แก่ ผีเสื้อหางตุ้มอดัมสัน ผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู ผีเสื้อหนอนมะนาว ผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อม้าลาย ผีเสื้อธรรมดา ผีเสื้อจรกา ผีเสื้อหนอนยี่โถ แมลงทับ ด้วงต่าง ๆ เป็นต้น 

การเดินทาง
1.รถยนต์ส่วนตัวจากตัวเมืองชัยภูมิ ตามทางหลวงหมายเลข 2051 ถึงที่ทำการอทยานฯ 20 กิโลเมตร
2.รถโดยสารประจำทาง สายชัยภูมิ-ท่าหินโงม ผ่าน ด่านเก็บเงินค่าบริการ เดินเท้าอีก 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยาน์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น