Our social:

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง

ที่ตั้งและแผนที่
60/10 หมู่ที่ 5 ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 82120 

โทร. : 0-7641-0360 , 0-7641-0361 
โทรสาร. : - 

อีเมล : lampi_np@hotmail.com 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายมงคล ลิ่ววิริยกุล 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท 
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท 

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง มีเนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ หรือ 72 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลลำแก่น ตำบลทุ่งมะพร้าว ตำบลท้ายเหมือง ตำบลบางทอง และตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 80 23, - 80 33, เหนือ และอยู่ระหว่าง เส้นแวงที่ 980 12, - 980 20, ตะวันออก มีสภาพพื้นที่แยกจากกันเป็น 2 ส่วน โดยมีถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) เป็นเส้นแบ่ง คือ บริเวณหาดท้ายเหมือง ซึ่งอยู่ริมทะเลอันดามัน มีชายหาดยาวประมาณ 13.6 กิโลเมตร และบริเวณเทือกเขาลำปี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบ โดยมีที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ตั้งอยู่บริเวณหาดท้ายเหมือง 
บริเวณเทือกเขาลำปี มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ 
ทิศเหนือ จดบ้านเขากล้วย และบ้านอินทนิน ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง 
ทิศตะวันออก จดบ้านนาตาคำ และบ้านกลาง ตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง 
ทิศใต้ จดบ้านห้วยทราย ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง 
ทิศตะวันตก จดบ้านบ่อหิน บ้านลำปี ตำบลท้ายเหมือง และบ้านขนิม ตำบลทุ่งมะพร้าว 
อำเภอท้ายเหมือง 
ส่วนบริเวณหาดท้ายเหมือง มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ 
ทิศเหนือ จดเขตที่ดินทหารเรือ (บริเวณเขาหน้ายักษ์) 
ทิศตะวันออก จดคลองหินลาด 
ทิศใต้ จดที่ดินสาธารณประโยชน์อำเภอท้ายเหมือง 
ทิศตะวันตก จดทะเลอันดามัน

ขนาดพื้นที่
45000.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลป.1 (ที่ทำการ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลป.2 (น้ำตกลำปี)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลป.3 (ปาง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลป.4 (น้ำตกโตนไพร)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลป.5 (ทุ่งมะพร้าว)

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง เป็นพื้นที่ทางทิศตะวันออกของชายฝั่งทะเลอันดามัน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 72 ตารางกิโลเมตร หรือ 45,000 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่ ตำบลลำแก่น ตำบลทุ่งมะพร้าว ตำบลท้ายเหมือง ตำบลบางทอง และตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีสภาพพื้นที่แยกจากกันเป็น 2 ส่วน โดยมีถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) เป็นเส้นแบ่ง คือ บริเวณหาดท้ายเหมือง ซึ่งอยู่ริมทะเลอันดามัน มีชายหาดยาวประมาณ 13.6 กิโลเมตร มีส่วนกว้างที่สุดประมาณ 1,600 เมตร ส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 350 เมตร ปลายสุดของหาดเป็นแหลม เรียกว่า แหลมอ่าวขาม (เขาหน้ายักษ์) ทางด้านตะวันออกของพื้นที่แห่งนี้มีคลองน้ำกร่อยขนาดใหญ่ คือ คลองทุ่งมะพร้าว และคลองหินลาด ซึ่งมีน้ำจืดส่วนใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาลำปี และบริเวณเทือกเขาลำปี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน เรียงตัวยาวไปตามแนวเหนือ – ใต้ เรียกว่าเทือกเขาลำปี ประกอบด้วย เขาขนิม เขาลำปี เขาโตนย่านไทร และเขาลำหลัง และมีสภาพพื้นที่แปรเปลี่ยนสูงขึ้นจากประมาณ 40 – 100 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณรอบ ๆ เขตอุทยานแห่งชาติสู่พื้นที่ภูเขาสูงในตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ยอดเขาสูงสุด คือ เขาขนิมอยู่ทางด้านทิศเหนือของพื้นที่ มีความสูง 622 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำลำธารหลายสาย เช่น คลองลำปี คลองขนิม คลองลำหลัง คลองพลุ คลองคำนึง คลองอินทนิน และคลองบางปอ เป็นต้น ลักษณะพื้นที่มีความลาดชัน โดยมีความลาดชันเฉลี่ยประมาณ 10 – 25% โดยมีที่ทำการอุทยานแห่งชาติตั้งอยู่บริเวณหาดท้ายเหมือง ภูเขาในเขตอุทยานแห่งชาติบริเวณเขาลำปี นอกจากจะเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าจำนวนมากแล้ว ยังเป็นแหล่งต้นน้ำซึ่งจะไหลรวมลงสู่ลำน้ำสายสำคัญ 2 สาย คือ คลองทุ่งมะพร้าว และคลองคัน ลุ่มน้ำคลองทุ่งมะพร้าว มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 42.94 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยลำน้ำสาขาย่อยที่สำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำคลองอินทนิน ลุ่มน้ำคลองขนิม ลุ่มน้ำคลองลำปี ลุ่มน้ำคลองปะเต และลุ่มน้ำย่อยอื่น ๆ ส่วนลุ่มน้ำคลองคัน มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 14.06 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยลำน้ำสาขาย่อยคือ คลองคำนึง คลองนาตาคำ คลองห้วยทราย คลองห้วยกลั้ง และลำน้ำสาขาย่อยอื่น ๆ รวมพื้นที่อุทยานแห่งชาติบริเวณเขาลำปี ประมาณ 57 ตารางกิโลเมตร หรือ 35,625 ไร่ สำหรับพื้นที่บริเวณหาดท้ายเหมือง มีพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร หรือ 9,375 ไร่ หรือประมาณ 20% ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งหมดจากลักษณะภูมิประเทศในเขตอุทยานแห่งชาติเขาลำปี จะเห็นได้ว่าภูเขาบริเวณนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำสายสำคัญดังกล่าว ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงบริเวณภูเขา

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีกำลังแรงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม พัดพาความชุ่มชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมายังแผ่นดิน ทำให้เกิดฝนตกชุกในช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่นี้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือน้อย เนื่องจากมีเทือกเขาสูงทอดตัวในแนวเหนือ – ใต้ เป็นแนวกั้นทำให้ลมมีกำลังอ่อนลง อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง ก็สามารถส่งผลให้เกิดฝนตกได้บ้างแต่มีปริมาณไม่มากนัก ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงฤดูแล้ง ท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมน้อยลง อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณฝนจะมีน้อย

พืชพรรณและสัตว์ป่า
ทรัพยากรป่าไม้
อุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง มีสภาพพื้นที่แยกกันเป็นสองส่วน โดยมีถนนเพชรเกษมเป็นเส้นแบ่ง คือบริเวณหาดท้ายเหมือง ซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน และเทือกเขาลำปีซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบ เทือกเขาลำปี ประกอบด้วยภูเขาหลายลูกเรียงตัวยาวไปตามแนวเหนือ – ใต้ ได้แก่ เขาจู้จี้ เขาขนิม เขาลำปี เขาควนตาไชย เขาโตนย่านไทร มียอดเขาสูงที่สุดคือ ยอดเขาขนิม สภาพป่าเป็นป่าดงดิบมีพันธุ์ไม้ เช่น ยาง หลุมพอ ตะเคียนทอง บุนนาค เสียช่อ พิกุลป่า ไม้พื้นล่าง ได้แก่ เฟิน หวาน และไผ่ บริเวณริมแนวเขต จะเป็นสวนยางพารา ซึ่งราษฎรได้ปลูกไว้เป็นเวลานานแล้ว
ส่วนบริเวณหาดท้ายเหมือง มีพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร หรือ 20% ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เป็นชายหาดที่เกิดจากการกัดเซาะของคลื่น ทำให้เป็นสันดอนทรายละเอียดยื่นทแยงขึ้นไปจากอำเภอท้ายเหมือง ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือขนานไปกับผืนแผ่นดินใหญ่ โดยมีปลายสุดของหาดเป็นแหลมเรียกเขาหน้ายักษ์ ทางด้านตะวันออกของพื้นที่มีคลองน้ำกร่อยขนาดใหญ่ ซึ่งน้ำจืดจะไหลลงมาจากเทือกเขาลำปี ได้แก่ คลองทุ่งมะพร้าว และคลองหินลาด บริเวณที่เป็นดินเลนริมทะเล และตามบริเวณ ปากคลองที่น้ำทะเลท่วมถึง จะเป็นป่าชายเลน พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนดำ ตะบูนขาว ลำพู ลำแพน ถั่วดำ ถั่วขาว และแสม บางส่วนเป็นป่าจากล้วน และบริเวณชายาหดจะเป็นป่าชายหาด ซึ่งมีไม้สนทะเล จิกทะเล หูกวาง หยีทะเล หว้าบ้าน รักทะเล และเตยทะเลขึ้นอยู่ บริเวณตอนกลางของพื้นที่หาดท้ายเหมือง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ มีน้ำจืดขังในฤดูฝน สังคมพืชเป็นป่าพรุซึ่งถูกรบกวนจนกลายสภาพเป็นป่าเสม็ด ซึ่งมีไม้เสม็ดขาว (Melaleuca leucadendra) ขึ้นเป็นพันธุ์ไม้เด่น
ทรัพยากรสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ในส่วนเทือกเขาลำปี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สำคัญหลายชนิด เช่น เสือโคร่ง หมีควาย กวาง เก้ง หมูป่า เม่น กระจง แมวดาว อีเห็น ชะมด ลิงค่าง ชะนี และนกนานาชนิด ส่วนบริเวณหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ชายฝั่งทะเลอันดามันจะเป็นที่ราบทั้งหมด มีหาดทรายขาวตลอดตามความยาวของพื้นที่ ถัดเข้ามาบริเวณสันทราย มีทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนก เช่น อีเก้ง หมูป่า กระจง เม่น อีเห็น ไกป่า เหยี่ยวแดง นกออก นกกวัก นกเขา นกกินปลา และนกนางนวล เป็นต้น และที่สำคัญคือ บริเวณหาดชายทะเลท้ายเหมือง มีเต่าทะเลขึ้นวางไข่ปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมากในอดีต แต่ปัจจุบันมีจำนวนลดลง นอกจากนั้นสัตว์น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรทางทะเล ก็อาศัยอยู่ชุกชุมหลายชนิด โดยเฉพาะบริเวณป่าชายเลนคลองหินลาด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลน้ำกร่อย นับตั้งแต่ กุ้ง หอย ปูและปลาชนิดต่าง ๆ บางครั้งอาจพบปลาโลมา 

การเดินทาง
จังหวัดพังงา เป็นจังหวัดทางภาคใต้ที่มีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อน และชายฝั่งที่มีเกาะแก่งมากมาย ทำให้จังหวัดพังงามีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สวยงาม ได้แก่ ป่าเขา และน้ำตก และชายฝั่งทะเลที่สวยงาม อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามเส้นทางรถยนต์ประมาณ 839 กิโลเมตร พังงาเป็นจังหวัดที่ไม่มีเส้นทางรถไฟผ่าน ดังนั้นการเดินทางติดต่อระหว่างจังหวัดพังงา และจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งอำเภอต่าง ๆ ในเขตจังหวัดพังงา จึงอาศัยเส้นทางรถยนต์เป็นหลัก สำหรับการคมนาคมทางน้ำ ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางระยะสั้น ๆ ระหว่างเกาะ หรือเพื่อการประมงและการท่องเที่ยว โดยมีท่าเรือหลักที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ท่าเรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ท่าเรือทับละมุ ท่าเรือคุระบุรี และท่าเรือสุระกุล นอกจากนี้จังหวัดพังงา ยังตั้งอยู่ ไม่ไกลจากจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติจังหวัดภูเก็ต การขนส่งหลัก ๆ ของจังหวัดพังงา มีดังนี้
1) ทางรถยนต์ การเดินทางติดต่อระหว่างจังหวัดพังงาและจังหวัดอื่น ๆ และระหว่างอำเภอ อาศัยระบบถนนซึ่งประกอบด้วย ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด และทางหลวงท้องถิ่น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 ทางหลวงแผ่นดิน จะมีสายหลัก ๆ 3 สาย คือ
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 เส้นทางเพชรเกษมเป็นทางหลวงแผ่นดิน สายประธานของภาคใต้ เริ่มจากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง เข้าสู่จังหวัดพังงา โดยผ่านทางอำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง ตะกั่วทุ่ง อำเภอเมือง และทับปุด เส้นทางสายนี้ เป็นทางเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้ รวมระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงพังงา ประมาณ 839 กิโลเมตร
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ซึ่งแยกจากทางหลวงหมายเลข 4 ที่ อำเภอตะกั่วป่า ผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี สิ้นสุดเส้นทางที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 เส้นทางสายโคกกลอย – ภูเก็ต
1.2 ทางหลวงจังหวัด ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 6 สาย เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัด
1.3 ทางหลวงท้องถิ่น เป็นเส้นทางสายสั้น ๆ ระยะทางน้อยกว่า 20 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่าง อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้านในเขตจังหวัดพังงา
สำหรับบริการรถโดยสารประจำทาง (บขส.) มีทั้งเส้นทางเดินรถภายในจังหวัดและเส้นทางระหว่างจังหวัด ทั้งธรรมดาและปรับอากาศ
2) ทางน้ำ เดิมเป็นการคมนาคมสายหลักของจังหวัด แต่เนื่องจากในปัจจุบัน แม่น้ำลำคลอง เกิดการตื้นเขินจากการทำเหมือง จึงไม่สามารถใช้สัญจรได้ สำหรับชายฝั่งทะเลและในอ่าวพังงา การคมนาคมทางน้ำ ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางระยะสั้น ๆ ระหว่างเกาะ หรือเพื่อการประมงและการท่องเที่ยว โดยมีท่าเรือหลักที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ท่าเรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ท่าเรือทับละมุ ท่าเรือคุระบุรี และท่าเรือสุระกุล
3) ทางอากาศ เนื่องจากจังหวัดพังงา อยู่ห่างจากสนามบินภูเก็ตซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติเพียง 66 กิโลเมตร ดังนั้นการเดินทางเข้าสู่จังหวัดพังงาด้วยเครื่องบิน จึงค่อนข้างสะดวกสบายพอควร
การเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง ทำได้โดยอาศัยเส้นทางคมนาคมทางบก โดยอาศัยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) จากกรุงเทพฯ ผ่านอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แล้วใช้เส้นทางตะกั่วป่า – ท้ายเหมือง ระยะทางประมาณ 66 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางพังงา – ท้ายเหมือง ระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร เมื่อถึงสี่แยกตลาดท้ายเหมืองแล้ว เดินทางตามเส้นทางชายทะเล อีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติบริเวณเขาลำปี ต้องเดินทางต่อจากอำเภอ
ท้ายเหมืองไปอีกเป็นระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงปากทางเข้าน้ำตกลำปี ซึ่งจะต้องเดินทางตามถนนลาดยางเข้าไปอีกเป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร 
สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก และสถานที่กางเต็นท์
ร้านอาหาร - ร้านอาหาร
ที่พัก - บ้านสนทะเล 3
ที่พัก - บ้านสนทะเล 1
ที่พัก - บ้านสนทะเล 2
ที่พัก - บ้านสนทะเล 4
ห้องประชุมสัมมนา - ห้องประชุมสัมมนา
ลานจอดรถ - ลานจอดรถ
ห้องน้ำ - ห้องน้ำรวมชาย
ถังขยะ - ถังขยะ
ถนน / ทางเดิน - ถนนลาดยาง

สถานที่ท่องเที่ยว
ชายทะเลท้ายเหมืองน้ำตกลำปีน้ำตกโตนไพรหาดท้ายเหมือง
เขาหน้ายักษ์ทุ่งหญ้าสะวันนาซากเรือขุดแร่โบราณ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น