Our social:

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

ที่ตั้งและแผนที่
สถานที่ติดต่อ : 145/1 ถ.ตลาดล่าง ต.ตลาด อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฏร์ธานี 84000 

โทรศัพท์ 0 7728 6025, 0 7728 0222 โทรสาร 0 7728 6588 

อีเมล angthong_np@hotmail.com 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท 
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท 

ทะเลใน หนึ่งเดียวในอ่าวไทย 

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เป็นหมู่เกาะในอ่าวไทยท้องที่ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากเกาะสมุยและเกาะพะงันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 20 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะต่างๆ ประมาณ 40 เกาะ ตามเกาะต่างๆ จะมีหาดทรายอยู่เกือบทุกเกาะ บางเกาะหาดทรายมีสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ บางเกาะมีปะการังตามชายทะเลหลายชนิด สีสวยงามหลากสี อยู่ท่ามกลางความเงียบสงบ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองมีเนื้อที่ประมาณ 63,750 ไร่ หรือ 102 ตารางกิโลเมตร 

บริเวณหมู่เกาะอ่างทองแต่เดิมเป็นพื้นที่หวงห้ามของกองทัพเรือซึ่งมีโครงการจะสร้างฐานทัพเรือเพื่อควบคุมความปลอดภัยของประเทศทางด้านอ่าวไทย แต่ด้วยมีทิวทัศน์สวยงาม ทะเลสาบ หน้าผา ถ้ำทะลุ เกาะรังนกนางแอ่น นกนานาชนิด และแนวปะการัง เป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ปลานานาชนิด ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 นายสมบูรณ์ วงศ์ภักดี นักวิชาการป่าไม้ตรี กองอุทยานแห่งชาติ ได้เขียนบทความสารคดีเรื่อง “หมู่เกาะอ่างทอง อุทยานแห่งชาติทางทะเล” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2518 สรุปสาระสำคัญว่า ควรจัดหมู่เกาะอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ประกอบกับกองอุทยานแห่งชาติได้มีโครงการอยู่แล้วเช่นกัน และคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2518 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2518 ให้กรมป่าไม้พิจารณาจัดหมู่เกาะอ่างทองเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีกแห่งหนึ่ง 

ในปี พ.ศ. 2518 กองอุทยานแห่งชาติ ได้มีบันทึกที่ กส.0708/915 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2518 เสนอกรมป่าไม้ ให้นายสมบูรณ์ วงศ์ภักดี นักวิชาการป่าไม้ตรี ไปทำการสำรวจ ปรากฏว่า หมู่เกาะอ่างทอง ประกอบด้วยเกาะประมาณ 40 เกาะ มีทิวทัศน์สวยงาม ทะเลสาบ หน้าผา ถ้ำทะลุ เกาะรังนกนางแอ่น และนกนานาชนิด ปะการัง เป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ปลานานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2519 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2519 ให้กรมป่าไม้ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับหมู่เกาะอ่างทองกับกระทรวงกลาโหม และทำการตรวจสอบที่ดินบริเวณดังกล่าว กองอุทยานแห่งชาติ ได้มีหนังสือที่ กส.0708/1613 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2519 เสนอกรมป่าไม้ให้ นายสินไชย บูรณะเรข นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการตามมติคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และกระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือที่ กห. 0352 / 26927 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2519 ไม่ขัดข้องในการที่กรมป่าไม้จะกำหนดหมู่เกาะอ่างทองเป็นอุทยานแห่งชาติ 

กรมป่าไม้จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2520 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2520 เห็นชอบให้กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติได้ ทั้งทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มีหนังสือที่ สฎ.25/21994 ลงวันที่ 18 เมษายน 2520 ให้การสนับสนุนการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณหมู่เกาะอ่างทองในท้องที่ตำบลอ่างทอง อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมเนื้อที่ 102 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 174 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2523 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 21 ของประเทศไทย

ขนาดพื้นที่
63750.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง (บนฝั่งบ้านดอน)
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง (เกาะวัวตาหลับ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ อท.1 (เกาะสามเส้า)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ อท.2 (บ่อปัง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ อท.3 (อ่าวสน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (ชั่วคราว) หน้าทับ,ถ้ำร้าง

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
ประกอบด้วยหมู่เกาะต่างๆ 42 เกาะ มีเกาะที่สำคัญ ได้แก่ เกาะพะลวย เกาะวัวจิ๋ว เกาะวัวตาหลับ เกาะแม่เกาะ เกาะสามเส้า เกาะไผ่ลวก เกาะคา เกาะหินดับ เกาะผี เกาะวัวกันตัง เกาะแปยัด เกาะวัวเตะ เกาะนายพุด เกาะช้างโทรม เกาะหนุมาน เกาะท้ายเพลา เกาะหัวกล้อง และเกาะโคนบาน เป็นต้น สภาพของเกาะส่วนมากเป็นเขาหินปูนเกือบทั้งหมดมีความสูงจาก
ระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 10 เมตร จนถึง 400 เมตร ลักษณะของเกาะที่เป็นโครงสร้างของหินปูนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีอย่างรุนแรง รวมทั้งการกร่อนทางกายภาพและดินฟ้าอากาศ ทำให้เกิดถ้ำและหน้าผา ทำให้รูปร่างของเกาะมีลักษณะแปลกๆ เกิดขึ้น เช่น บางแห่งคล้ายกับปราสาทหินพิมายหรือนครวัดอันเก่าแก่ 

ลักษณะภูมิอากาศ
มีลมมรสุมพัดผ่านทำให้ฝนตกชุก คลื่นพายุรุนแรง ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 2,000 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ย 23 องศาเซลเซียส ฉะนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเดินทางมาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – สิงหาคม สภาพอากาศถึงแม้จะค่อนข้างร้อนแต่ไม่อบอ้าวทั้งนี้ เพราะเป็นช่วงคลื่นลมสงบเหมาะแก่การเดินเรือที่สุด

พืชพรรณและสัตว์ป่า
1. กล้วยไม้รองเท้านารีช่องอ่างทอง เป็นพันธุ์พืชที่มีแหล่งกำเนิดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จะพบตามซอกหินและพื้นดิน บริเวณเกาะวัวตาหลับ เกาะสามเส้า เกาะผี ลักษณะดอกตั้งตรง ก้านดอกสีเขียวมีขนปกคลุม กลีบดอกสีขาวประจุดสีแดงเข้ม
2.นกแก๊ก พบได้บริเวณเกาะวัวตาหลับ เกาะแม่เกาะ จะหากินเป็นคู่ๆ ลำตัวสีดำ ท้องสีขาว
3. ค่างแว่นถิ่นใต้ เป็นสัตว์ป่าที่หาได้ยาก พบได้เฉพาะที่เกาะวัวตาหลับ อาศัยเป็นฝูง เมื่อเริ่มเกิดใหม่จะมีขนสีทอง อายุประมาณ 2 เดือน จะเปลี่ยนขนเป็นสีน้ำตาลแกมดำ บริเวณหัวมีขนยาวสีเทาอ่อนหางมีสีน้ำเงิน มือเท้ามีสีดำ รอบตาด้านนอกและปากมีสีขาว มีอายุประมาณ 10 ปี ออกลูกครั้งละ
1 ตัวตั้งท้องประมาณ 140-150 วัน
4. สัตว์น้ำ พบในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองในแหล่งหญ้าทะเล และในแนวปะการัง เช่น ปลากระเบน ปะการัง ปลากะพง ปลาสลิดหิน ปลาเก๋า ปลาทู หมึก กุ้ง หอย และปูม้า
5. ปะการัง พบว่าแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะอ่างทองมีความสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ อันจะเกิดจากปริมาณตะกอนและอิทธิพลคลื่นมรสุม โดยแนวปะการังด้านที่ได้รับลมจะมีเปอร์เซ็นต์ปกคลุมพื้นที่ของปะการังแข็งสูง ส่วนเปอร์เซ็นต์ปกคลุมพื้นที่ของปะการังตายและสิ่งมีชีวิตมีน้อย ส่วนแนวปะการังด้านที่อับลมจะมีลักษณะตรงกันข้าม แต่ลักษณะปะการังที่เป็น Per-Dominant คล้ายคลึงกันโดยพบพวก Porites lutea และ Goniopora djibouteonsis 

การเดินทาง
การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง สามารถเดินทางโดยเรือนำเที่ยวจากท่าเรือบ่อผุดหรือจากท่าเรือหน้าทอน อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ออกเดินทางทุกวันเวลา 08.30 น. ถึงหมู่เกาะอ่างทองเวลา 10.30 น. และกลับถึงท่าเรือหน้าทอนหรือท่าเรือ
บ่อผุดประมาณ 17.00 น. ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร 



























สถานที่ท่องเที่ยว
เกาะท้ายเพลาและเกาะวัวกันตังเกาะวัวตาหลับเกาะสามเส้าเกาะหินดับ
ทะเลใน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น