Our social:

อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป

ที่ตั้งและแผนที่
สถานที่ติดต่อ : หมู่ 3 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส 96130 

โทรศัพท์ : 081-9572109 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายซามูดิง หะยีบือราเฮง 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 
- ยังไม่เสียค่าบริการ - 

อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่ตำบลดุซงญอ อำเภอจะนะ ตำบลกาลิซา ตำบลเฉลิม ตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ ตำบลตะมะยูง ตำบลซากอ ตำบลศรี บรรพต ตำบลเชิงคีรี อำเภอศรีสาครและตำบลลาโล๊ะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยป่าดงดิบชื้น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด และมีจุดเด่นที่น่าสนใจ เช่น น้ำตกไอร์ซือดอ น้ำตกยากาบองอ เป็นแหล่งธรรมชาติที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง ของจังหวัดนราธิวาส อุทยานแห่งชาตินำตกซีโปมีพื้นที่ทั้งหมด 62,500 ไร่ หรือประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร อยู่ในแผนที่ภูมิประเทศชุด L 7017ระวาง หมายเลข 5321 III และ 5321 IV 
ที่ตั้งที่ทำการ ตั้งอยู่ในท้องที่ ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ระหว่างพิกัด UTM 47 N 0792453 , 0693606 (ละติจุด 060 16.129// ,ลองติจุด 1010 38.596//) 
ที่ตั้งและอาณาเขต 
มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่อื่นๆ ดังนี้ 
ทิศเหนือ จด ตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ 
ทิศใต้ จด ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ 
ทิศตะวันออก จด ตำบลกาลิซา ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ 
ทิศตะวันตก จด ตำบลเชิงคีรี ตำบลศรีบรรพต อำเภอศรีสาคร 
ความเป็นมา 
ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1055/2539 ได้ให้ นายสุธน จันทร์สว่าง เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าวนอุทยานน้ำตกซีโป ไปดำเนินการสำรวจข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพป่า การถือครองที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่บริเวณป่าโครงการไม้กระยาเลยฝั่งขวาแม่น้ำสายบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับวนอุทยานน้ำตกซีโป ซึ่งกรมป่าไม้ขึ้นทะเบียนเป็นวนอุทยานปี 2519 จากรายงานการสำรวจเบื้องต้น ตามหนังสือวนอุทยานน้ำตกซีโป อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ที่ กษ. 0712.3/(ซป)/41 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2538 สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สภาพพื้นที่บริเวณป่าโครงการไม้กระยาเลยฝั่งขวาแม่น้ำสายบุรี และวนอุทยานน้ำตกซีโป มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยให้ใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติดังกล่าว และได้เสนอผ่านที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติแล้ว 
ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป

ขนาดพื้นที่
180518.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
สำนักงานอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นภูเขาสูงหลายลูกสลับซับซ้อน เรียงตัวจากทิศเหนือถึงทิศใต้มีความสูงชัน พื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ราบ ยอดเขาสูงสุดของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ คือ ยอดเขาแมะแต อาณาเขตทิศเหนือจดตำบลลาโล๊ะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ทิศใต้จดตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ทิศตะวันออกจดตำบลเฉลิม ตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ และทิศตะวันตกจด ตำบลตะมะยุง ตำบลซากอ ตำบลศรีบรรพต ตำบลเชิงคีรี อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส 

ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน แบ่งฤดูกาลได้ 2 ฤดูกาล ได้แก่ฤดูฝน ( ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคม) และฤดูร้อนหรือฤดูแล้ง ( ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม) ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,300 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยสูงสุด 86.28 %

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าของอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป โดยทั่วๆ ไปค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นป่าดงดิบชื้น มีไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมโดยทั่วไป สภาพป่าตอนบนตลอดแนวเทือกเขา อยู่ในสภาพที่ดีเขียวชอุ่มตลอดปี ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ หลุมพอ ยาง ตะเคียนทอง และตะเคียนชนิดต่างๆ เป็นต้น

เนื่องจากพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติเป็นป่าดงดิบชื้นมีฝนตกตลอดปี จึงมีสัตว์ป่าชนิดต่างๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งประกอบด้วย ลิง ค่าง เก้ง กระจง กวางป่า เม่น นางอาย ชะมด พญากระรอก นกเงือก นกขุนทอง เหยี่ยว นกดุเหว่าผา สังคมพืชในพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ เป็นสังคมพืชของป่าดงดิบชื้น เป็นสังคมพืชที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากดินมีความชุ่มชื้นสูง พันธุ์ไม้เด่นและมีค่าทางเศรษฐกิจได้แก่ไม้ในตระกูลยาง ( Ditero cappaceae) เช่น ไม้ตะเคียนชันตาแมว ไม้สยา ไม้หลุมพอ ยางนา ยางยูง และอื่นๆ ไม้ตระกุลปาล์มได้แก่ หวายต่างๆ หมากต่างๆ กะพ้อชนิดต่างๆ ไม้พื้นล่างจำพวกเฟิร์น เช่นเฟิร์นมหาสดำ ปรงเขา กระเช้าสีดา นอกจากนี้ยังพบว่านหางช้าง (ว่านเพชรหึง) เป็นพืชตระกูลกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอีกด้วย
เนื่องจากพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติฯ เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนสภาพป่าเป็นป่าดงดิบชื้น ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงพบสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด อาทิเช่น ช้างป่า หมู่ป่า กระจง เม่น ค่าง ลิงแสม ลิงกัง สัตว์เลื้อยคลานได้แก่ งู เต่า ชนิดต่างๆ และยังพบสัตว์ปีกชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น ได้แก่ นกโพระดก นกเขียวคราม นกเขียวก้านตอง นกแซงแซว นกฮูก นกเค้าแมว นกหว้า นกบินหลาดง นกกระทาทุ่ง นกขมิ้น ไก่ป่า และนกเงือกซึ่งเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ จากสำรวจพบจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ นกเงือกหัวหงอก นกเงือกกรามช้าง นกเงือกหัวแรด นกกก นกแก๊ก และนกเงือกปากย่น นับได้ว่าเป็นดัชนีที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอุทยานแห่งชาติฯ ได้เป็นอย่างดี 

การเดินทาง
รถยนต์
จากอำเภอระแงะ ผ่านตลาดตันหยงมัส ไปตามถนนโยธาธิการสายอำเภอระแงะ-ซากอ ประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อตามถนน รพช.สายทาเนาะ-บาลูกา ผ่านหมู่บ้านบละแต บ้านบาตุบือซา บ้านปาเซ เข้าสู่หมู่บ้านซีโป รวมระยะทาง 6 กิโลเมตร จากหมู่บ้านซีโปเดินทางตามเส้นทางภายในหมู่บ้าน ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น