Our social:

อุทยานแห่งชาติแหลมสน

ที่ตั้งและแผนที่
36/6 หมู่ 4 ตำบลม่วงกลวง
อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
รหัสไปรษณีย์ 85120

โทร 0 7786 1431

อีเมล : laemson_np@hotmail.com

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายสัมพันธ์ ศรีระบาย

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอกะเปอร์ กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง และอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีกแห่งหนึ่ง ครอบคลุมพื้นที่บริเวณหาดแหลมสนและหมู่เกาะใกล้เคียง ร่มรื่นด้วยป่าสนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นที่อยู่ของนกนานาชนิด ทั้งมีหาดทรายขาวละเอียดเป็นแนวยาวและกว้างใหญ่ มีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก อุทยานแห่งชาติแหลมสนมีเนื้อที่ประมาณ 196,875 ไร่ หรือ 315 ตารางกิโลเมตร

ในปี พ.ศ. 2523 ป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานีได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประจำหน่วยควบคุมป่าเลน ที่ รน.1 ว่า สภาพป่าบริเวณแหลมสนในท้องที่ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง มีลักษณะสวยงาม มีชายหาดริมทะเล มีพรรณไม้นานาชนิด และมีสัตว์น้ำชุกชุม ป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานีจึงมีคำสั่งที่ 154/2523 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2523 ให้ นายณรงค์ จันทรางกูร เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ออกทำการสำรวจสภาพป่าบริเวณแหลมสนเพื่อจัดตั้งเป็นวนอุทยาน ตามรายงานผลการสำรวจบริเวณพื้นที่ป่าแหลมสนมีธรรมชาติสวยงาม เหมาะจัดเป็นวนอุทยาน เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อน ซึ่งป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานีได้มีหนังสือที่ กส.0708(สฎ)/3660 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2523 ให้กรมป่าไม้พิจารณา ในเดือนมกราคม 2524 กรมป่าไม้ โดยกองอุทยานแห่งชาติจึงได้มีคำสั่งที่ 125/2524 ลงวันที่ 28 มกราคม 2524 ให้นายมโน มนูญสราญ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานแหลมสน อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

ต่อมาวนอุทยานแหลมสนได้มีหนังสือที่ กส.0713(หส)/11 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2525 รายงานผลการสำรวจเพิ่มเติมว่า บริเวณหาดแหลมสนมีสภาพป่าและบริเวณชายหาดที่สมบูรณ์ดี มีป่าสนธรรมชาติขึ้นอยู่ตลอดแนวชายหาดและยังมีทุ่งหญ้า รวมทั้งมีหมู่เกาะใกล้เคียง มีจุดเด่นและธรรมชาติที่สวยงามเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตลอดจน นายพร อุดมพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ได้ให้การสนับสนุนอย่างดียิ่ง กองอุทยานแห่งชาติจึงได้นำเรื่องเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2525 ในการประชุมครั้งที่ 2/2525 และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินหาดแหลมสนและเกาะใกล้เคียงในท้องที่ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง ตำบลม่วงกลวง ตำบลกะเปอร์ ตำบลบางหิน ตำบลนาคา ตำบลกำพวน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เนื้อที่ 315 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 100 ตอนที่ 135 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2526 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 46 ของประเทศไทย

ขนาดพื้นที่
196875.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯที่ หส๕(อ่าวอ่าง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯที่ หส๑(เกาะกำ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯที่ หส๒(หาดประพาส)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯที่ หส๓(เขาปากเตรียม)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯที่ หส๔(ทะเลนอก)

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติแหลมสนจะมีลักษณะเป็นชายฝั่งจมตัว ซึ่งก่อให้เกิดชายหาดตลอดแนวฝั่งแคบ มีลำน้ำสายสั้นขนาดเล็กจำนวนมาก เช่น คลองลัดโนด คลองขะนุด และคลองบางเบน ซึ่งลำคลองเหล่านี้จะพัดพาตะกอนดินมาทับถมตามปากแม่น้ำ และชายฝั่ง ทำให้ลักษณะชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำลำคลอง ถูกปกคลุมไปด้วยป่าโกงกาง 

ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะอากาศทั่วไป
เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง อยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จึงทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นกว่าจังหวัดอื่นและตกเกือบทั่วไป ส่วนฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด เพราะอยู่ไกลจากอิทธิพลของอากาศหนาวพอสมควรแต่บางครั้งอาจมีฝนตกได้ เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยเอาฝนมาตกปริมาณน้อยกว่าจังหวัดที่อยู่ทางด้านตะวันออกของภาคใต้

อุณหภูมิ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทรที่เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลจึงได้รับลมมรสุมอย่างเต็มที่คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมากอุณหภูมิเฉลี่ยจึงสูงไม่มากนัก และอากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน อากาศจะอบอุ่นในช่วงฤดูฝน ส่วนในฤดูหนาวอากาศจะเย็นบ้างเป็นบางครั้ง อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีประมาณ 27.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงที่สุดเฉลี่ย 34.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.5 องศาเซลเซียส เดือนเมษายนเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ที่ผ่านมาวัดอุณหภูมิสูงสุดได้ 39.6 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2526 และวันที่ 19 เมษายน 2516 อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 13.7 องศาเซลเซียส

ความชื้นสัมพัทธ์ ความชื้นสัมพัทธ์กับมวลอากาศมีอิทธิพลกับลมมรสุมเป็นสำคัญ ตลอดทั้งปีของจังหวัดระนองจะมีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งสองฤดูอย่างเต็มที่ ลมมรสุมนี้ก่อนจะพัดเข้าสู่บริเวณจังหวัดได้พัดผ่านทะเลและมหาสมุทรจึงได้พัดพาเอาไอน้ำและความชื้นมาด้วยทำให้บริเวณจังหวัดระนองมีความชุ่มชื้นและความชื้นสัมพัทธ์สูงเป็นเวลานาน ความชื้นสัมพัทธ์ตลอดทั้งปีปริมาณ 79.2%
ฤดูกาล
ฤดูกาลของจังหวัดระนองแบ่งตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทย แบ่งออกได้เป็นสามฤดู
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างมรสุม จะมีลมทิศตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้อากาศร้อนทั่วไป อากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน
แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากเป็นภูมิประเทศในคาบสมุทรอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก
ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย และร่องความกดอากาศต่ำจะพัดผ่านประเทศไทยเป็นระยะๆ ทำให้ฝนตกมากตลอดฤดูฝนและเดือนสิงหาคมจะมีฝนตกมากที่สุดในรอบปี
ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออก เฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากจังหวัดระนองอยู่ใกล้ทะเลอุณหภูมิลดลงเล็กน้อยเป็นครั้งคราว อากาศไม่หนาวเย็นมากนัก และตามชายฝั่งจะมีฝนตกทั่วไปแต่มีปริมาณไม่มากนัก

พืชพรรณและสัตว์ป่า
ทรัพยากรป่าไม้ ในบริเวณชายหาดจะพบไม้ป่าชายหาด ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าไม้รัง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สนทะเล หยีทะเล จิกทะเล เมา หว้า โพทะเล หูกวาง ปอทะเล หนามเคล็ด และมะนาวผี สำหรับบริเวณส่วนกลางของเกาะต่างๆ และภูเขาแผ่นดินใหญ่ เป็นป่าดิบ ไม้ที่พบเป็นพวกยาง ตะเคียนทราย ตะเคียนสามพอน สะเดาป่า และหวาย
สัตว์ป่า จากลักษณะภูมิประเทศและความอุดมสมบูรณ์ ของสังคมพืช ทำให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติแหลมสนเหมาะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายประเภทด้วยกัน จากการสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในปี พ.ศ. 2531 พบกระแตธรรมดา บ่าง นางอาย ลิงกัง ลิงแสม ค่างแว่นถิ่นใต้ อีเห็นข้างลาย หมีขอ หมูป่า กระจง ลิ่นใหญ่ เม่นหางพวง และจากการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2538 พบนกทั้งหมด 138 ชนิด เป็นนกประจำถิ่น 80 ชนิด นกอพยพในฤดูหนาวแต่ไม่ใช่เพื่อการผสมพันธุ์ 54 ชนิด และนกอพยพในฤดูกาลอื่น 4 ชนิด ได้แก่ นกยางทะเล เหยี่ยวแดง นกออก นกกระแตแต้แว้ด นกเด้าดิน นกนางนวลแกลบ นกเขาใหญ่ นกกินเปี้ยว นกเงือกกรามช้าง นกนางแอ่นบ้าน นกปรอท นกแซงแซว นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกขุนทอง เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลานที่พบได้แก่ ตะกวด แย้ เต่า และงูชนิดต่างๆ

การเดินทาง
จังหวัดระนองอยู่ห่างจากกรุงเทพฯระยะทางประมาณ 568 กม. ระนองเป็นจังหวัดแรกทางด้านฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทย มีแม่น้ำกระบุรีเป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ทิศเหนือ และทิศตะวันออกติดกับจังหวัดชุมพร ทิศตะวันตก ติดทะเลอันดามัน และทิศใต้ ติดกับจังหวัดพังงา
การเดินทาง เดินทางได้ตลอดทั้งปี โดยสามารถเดินทางได้หลายวิธีดังนี้
1. รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 - 9 ชั่วโมง โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านเพชรบุรี ประจวบฯ ถึงสี่แยกปฐมพร (ชุมพร) เลี้ยวขวา ผ่านอำเภอ กระบุรี เข้าตัวเมืองระนอง
2. รถประจำทาง รถโดยสารประจำทาง บริษัทขนส่งจำกัด มีบริการรถโดยสารปรับอากาศ ทั้งธรรมดา และ VIP หรือ รถร่วมเอกชน คือ บริษัทนิวมิตรทัวร์ และบริษัทโชคอนันต์ทัวร์
3. ทางเครื่องบิน สามารถสอบถามทางบริษัทภูเก็ตแอร์ไลน์ก่อนล่วงหน้า
4. ทางรถไฟ จากกรุงเทพฯ ไม่มีรถไฟไประนองโดยตรง นักท่องเที่ยวที่ประสงค์เดินทางโดยรถไฟ สามารถลงรถไฟที่สถานีรถไฟชุมพร จังหวัดชุมพร แล้วต่อรถโดยสารประจำทาง ชุมพร - ระนอง ระยะทาง 122 กม.
อุทยานแห่งชาติแหลมสน
ที่จัดตั้งที่ทำการอยู่บริเวณหาดบางเบน อยู่ระหว่าง อ.เมือง กับ อ.กะเปอร์ ก่อนถึง อ.กะเปอร์ จะมีทางแยกขวามือเข้าหาดบางเบน (สามแยกบ้านสำนัก ต.ม่วงกลวง องกะเปอร์)หรือบริเวณ กม.ที่ 657 ให้เลี้ยวขวาเข้าที่ทำ
การอุทยานฯ ระยะทาง 10 กม.

สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก และสถานที่กางเต็นท์
อื่นๆ - ลานจอดรถ
ห้องประชุมสัมมนา - อาคารเอนกประสงค์ (ที่ทำการ)
ห้องน้ำ - ห้องอาบน้ำ
ห้องน้ำ - ห้องสุขา
ถังขยะ - ถังขยะ

สถานที่ท่องเที่ยว
หมู่เกาะกำบ้านแหลมนาวเกาะค้างคาวหาดบางเบน
หาดประพาสหาดอ่าวเคยเกาะกำตกญี่ปุ่น
ค้างคาวหมู่เกาะกำใหญ่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น