Our social:

อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี

ที่ตั้งและแผนที่
สถานที่ติดต่อทางไปรษณีย์ 67 ถ.พิพิธปาโจ อุทยานแห่งชาติบูโด - 
สุไหงปาดี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส 96170 

โทรศัพท์ 073 – 551 646 

อีเมล : sman.com@gmail.com 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายสิทธิชัย หมัดสี 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท 
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท 

อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอยี่งอ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอระแงะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีพันธุ์ไม้ที่มีค่านานาชนิด โดยเฉพาะปาล์มบังสูรย์และใบไม้สีทอง มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกต่าง ๆ ตลอดจนมีประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่ของผู้ก่อการร้ายในนามขบวนการบูโดและขบวนการพูโล มีเนื้อที่ประมาณ 213,125 ไร่ หรือ 341 ตารางกิโลเมตร 

ในอดีตพื้นที่ของป่าเทือกเขาบูโดและเทือกเขาสุไหงปาดี เป็นพื้นที่ที่มีโจรผู้ร้าย ชุกชุม มีการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ มากมายในนาม “ขบวนการพูโล” และ “ขบวนการโจรบูโด” จนในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้มีความสงบเรียบร้อยและปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ประกอบกับสภาพป่าทั้งสองมีความอุดมสมบูรณ์ และสวยงามตามธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 2517 กรมป่าไม้ได้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานน้ำตกปาโจ ซึ่งอยู่บริเวณป่าเทือกเขาบูโด และในปี พ.ศ. 2519 ได้จัดตั้งวนอุทยานน้ำตกฉัตรวาริน ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าเทือกเขาสุไหงปาดีให้อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตปัตตานี 

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปเยี่ยมเยือนประชาชน ในเขตพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอระแงะ ทรงพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2524 ว่า “เทือกเขาสุไหงปาดีมีความสูง 1,800 ฟุต เป็นเทือกเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดนราธิวาส มีไอน้ำเกาะทำให้เกิดความชุ่มชื้นและเป็นแหล่งน้ำมีลำธารไหล 3 สาย ควรมีการรักษาแหล่งน้ำอย่างจริงจัง” ซึ่งกองอนุรักษ์ต้นน้ำได้ตรวจสอบแล้วรายงานว่า พื้นที่ป่าบริเวณเทือกเขาสุไหงปาดีมีสภาพดีมาก และมีธรรมชาติที่สวยงาม เห็นควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 740/2525 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2525 ให้ นายสัมพันธ์ มิเดหวัน ไปสำรวจเบื้องต้น ซึ่งได้รับรายงานตามหนังสือ ที่ กษ 0713 (ขป) /พิเศษ ลงวันที่ 11 กันยายน 2526 ว่า บริเวณเทือกเขาสุไหงปาดี อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส มีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ 


ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ ได้รับหนังสือของศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนจังหวัดภาคใต้ ที่ มท 1501/1955 ลงวันที่ 2 กันยายน 2526 และหนังสือสำนักงานป่าไม้เขตปัตตานี ที่ กษ 0714 (ปน)/1689 ลงวันที่ 8 กันยายน 2526 เสนอความเห็นว่า บริเวณเทือกเขาบูโด จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าชุกชุม มีธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง ซึ่งป่าไม้เขตได้มีคำสั่งที่ 222/2526 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2526 ให้นายอภัย หยงสตาร์ นักวิชาการป่าไม้ 4 และนายสุธน จันทร์สว่าง เจ้าพนักงานป่าไม้ 2 ไปสำรวจเบื้องต้นแล้ว เห็นสมควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ 

กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0706/1073 ลงวันที่ 22 เมษายน 2527 เสนอนายจำนงค์ โพธิสาโร อธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งได้มีบันทึกลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2527 ให้ดำเนินการกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ป่าทั้งสองเป็นอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 และได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2531 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2531 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ป่าเทือกเขาบูโด ป่าเทือกเขาสุไหงปาดี เป็นอุทยานแห่งชาติ 

ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แล้ว โดยได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าเทือกเขารือเสาะ ป่ายี่งอ และป่าบาเจาะ ในท้องที่ตำบลปะลุกาสาเมาะ ตำบลบาเระเหนือ ตำบลกาเยาะมาตี ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ ตำบลสุวารี ตำบลสามัคคี ตำบลรือเสาะออก ตำบลลาโละ อำเภอรือเสาะ ตำบลตะปอเยาะ ตำบลลุโบะบายะ ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ และตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ป่ากะรุบี ในท้องที่ตำบลตะโละดือรามัน และตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ป่าจะกว๊ะ ในท้องที่ตำบลเกะรอ และตำบลจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และป่าบูเก๊ะตาเว แปลงที่ 2 ป่าบองอ และป่าบูเก๊ะตาเว แปลงที่ 1 ในท้องที่ตำบลจวบ ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง ตำบลบองอ อำเภอระแงะ ตำบลโต๊ะเด็ง ตำบลริโก๋ ตำบลสากอ อำเภอสุไหงปาดี และตำบลเกียร์ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 48 ก วันที่ 17 มิถุนายน 2542 เป็นลำดับที่ 95 ของประเทศ 

อุทยานแห่งชาติ บูโด-สุไหงปาดี ตั้งอยู่ 
ระหว่างเส้นรุ้งที่ 6 องศา 01 6 องศา 36 เหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 01 องศา 32 – 01 องศา 51 มีเนื้อที่ ประมาณ 213,125 ไร่ หรือ 341 ตารางกิโลเมตร ควบคุมพื้นที่รับผิดชอบดังนี้ 
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี อำเภอรามัน จังหวัดยะลา 
ทิศใต้ ติดต่อกับ
อำเภอ สุไหงปาดี และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส 
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ 
อำเภอ บาเจาะ อำเภอยี่งอ 
อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอสุไหงปาดี 
จังหวัดนราธิวาส 
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอรือเสาะ อำเภอระแงะ อำเภอสุคิริน 
จังหวัดนราธิวาส

ขนาดพื้นที่
213125.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์บด.1 (น้ำตกปาโจ)
หน่วยพิทักษ์บด.2 (น้ำตกฉัตรวาริน)

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นภูเขาดิน มียอดเขาตาเวเป็นยอดเขาสูงที่สุดประมาณ 1,182 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทราย หินเป็นหินอัคนี บางส่วนเป็นหินปูนและหินกรวดขนาดใหญ่ สภาพป่าจะทอดแนวทางเหนือไปสู่ทิศใต้ เป็นแหล่งน้ำต้นกำเนิดแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำสายบุรี คลองบาเจาะ มีพันธุ์ไม้ที่มีค่านานาชนิด โดยเฉพาะ ปาล์มบังสูรย์ นกเงือก และใบไม้สีทอง ซึ่งมีต้นไม้ประจำจังหวัด คือ ไม้ตะเคียนชันตาแมว มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่นน้ำตก ถ้ำ จุดชมวิว ตลอดจนมีประวัติศาสตร์ที่มีอดีต ความเป็นมาเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการของผู้ก่อการร้ายในนาม ขบวนการบูโด และขบวนการพูโล ซึ่งปัจจุบันเป็นดินแดนที่มหัศจรรย์หลงเหลือแต่ความงดงามของธรรมชาตินั้นคือ อุทยานแห่งชาติบูโด - สุไหงปาดี มีเนื้อประมาณ 341 ตารางกิโลเมตร หรือ 213,125 ไร่

ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี มีสภาพภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 2 ฤดู คือ ฤดูฝน ซึ่งมีฝนตกชุกระหว่างเดือน พฤษภาคม - ธันวาคม ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ประมาณเฉลี่ย 2,500 มิลลิเมตร/ปี และฤดูร้อนระหว่างเดือน มกราคม - เมษายน อุณหภูมิทั้ง 2 ฤดูประมาณ 19.2 36.2 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบขึ้นปกคลุมเทือกเขาทั้งหมด มีไม้ขนาดใหญ่ เช่น ตะเคียน กาลอ ไข่เขียว สยา หลุมพอ นากบุด ตีนเป็ดแดง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หวาย ปาล์ม ใบไม้สีทอง และมีพรรณไม้ที่หายากมีราคาแพงและกำลังจะสูญพันธุ์ คือ “หวายตะค้าทอง” และ “ปาล์มบังสูรย์ หรือลีแป” พบตามบริเวณป่าลึกบนภูเขาสูงและสันนิษฐานว่ามีอยู่แห่งเดียวในป่าบริเวณนี้
ใบไม้สีทอง หรือ ย่านดาโอ๊ะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhnia aureifolia เป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ มีลักษณะเด่นตรงที่มีใบสีทองและผิวใบนุ่มเนียราวกับกำมะหยี่ รูปร่างคล้ายกับใบกาหลงหรือชงโค แต่ขนาดใหญ่กว่า มีขอบหยักเข้าทั้งโคนใบและปลายใบ คล้ายใบรูปไข่สองใบเชื่อมติดกัน พบเห็นได้ทั่วไปในผืนป่าบูโด และบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบ ขึ้นปกคลุมเทือกเขาทั้งหมด มีไม้ขนาดใหญ่ เช่น ไม้ตะเคียนชนิดต่าง ๆ ไม้กาลอ ไม้ไข่เขียว ไม้สยา ไม้หลุมพอ ไม้นาคบุตร ไม้ตีนเป็ดแดง และมีพันธุ์ไม้ที่หายากมีราคาแพงและกำลังจะสูญพันธุ์ คือ หวายตะค้าทอง และปาล์มบังสูรย์ หรือ
(ลีแป) และ ใบไม้สีทอง มีชื่อทางท้องถิ่นอีกชื่อหนึ่งว่า "ย่านดาโอ๊ะ" พบทั่วไปในป่าบริเวณ 3 จังหวัดภาคใต้ "ย่านดาโอ๊ะ” ใบไม้สีทอง ไม้ใบงามของจังหวัดนราธิวาส

สัตว์ป่า ประกอบด้วย เก้ง กระจง เลียงผา บ่าง ลิง ค่างแว่นถิ่นใต้ นกอินทรี นกยางเขียว นกกระทา นกเปล้า นกหัวขวานแดง นกกางเขนดงหางแดง นกกางเขนดง นกเงือกปากดำ นกกาฝาก ไก่ป่า เป็นต้น 

การเดินทาง
รถยนต์
จากกรุงเทพฯถึงอำเภอบาเจาะ ระยะทางประมาณ 1,122 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 42 จากอำเภอบาเจาะ ถึงอุทยานแห่งชาติบูโดฯ ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร


เครื่องบิน
จากสนามบินบ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติบูโด - สุไหงปาดี ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร


รถไฟ
จากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอสถานีรถไฟตันหยงมัส อำเภระแงะ และจากสถานีตันหยังมัส ประมาณ 30 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติบูโด - สุไหงปาดี 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น