Our social:

อุทยานแห่งชาติปางสีดา

ที่ตั้งและแผนที่
สถานที่ติดต่อ : ตู้ ปณ. 55 ตำบลท่าแยก อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว 27000 

โทรศัพท์ : 0 3724 7948 , 08 1862 1511 
โทรสาร : 0 3724 7632 

อีเมล : pangsida@live.com 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดา : นายพนัชกร โพธิบัณฑิต 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท 
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท 

อุทยานแห่งชาติปางสีดา มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอเมืองจังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า มีสภาพธรรมชาติและเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกปางสีดา น้ำตกผาตะเคียน น้ำตกแควมะค่า จุดชมวิว โขดหินตามลำน้ำที่มีลักษณะแปลกๆ มีเนื้อที่ประมาณ 527,500 ไร่ หรือ 844 ตารางกิโลเมตร 

ความเป็นมาของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ เดิมบริเวณน้ำตกปางสีดา เป็นหน่วยงานหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่จะจัดบริเวณน้ำตกปางสีดา ให้เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการรักษาพื้นที่ต้นน้ำลำธารและสภาพป่าธรรมชาติ ดังนั้น กรมป่าไม้จึงได้จัดตั้งให้เป็นวนอุทยานแห่งชาติ ชื่อว่า วนอุทยานปางสีดา เมื่อปี พ.ศ. 2521 ต่อมา กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้ทำรายงานสำรวจเบื้องต้น กำหนดให้ป่าน้ำตกปางสีดาและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดิน ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ ป่าเขาสะโตน และป่าท่ากระบาก ในท้องที่ ต.แก่งดินสอ อ.นาดี ต.บ้านแก้ง ต.ท่าแยก ต.โคกปี่ฆ้อง อ.สระแก้ว ต.หนองน้ำใส ต.ช่องกุ่ม ต.แซร์ออ อ.วัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรีให้เป็นอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 24 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2525 เป็นอุทยาน ฯ แห่งที่ 41 ของประเทศไทย 

ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติปางสีดา ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง อ.วัฒนานคร อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว และ อ.นาดี จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเทือกเขาพนมดงรัก คลอบคลุมพื้นที่ 527,500 ไร่ หรือประมาณ 844 ตารางกิโลเมตร มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า และทิวทัศน์ที่สวยงาม สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีพืชพรรณไม้หลายชนิด ประกอบไปด้วย ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง และป่าทุ่งหญ้า เหมาะสมที่จะรักษาไว้เพื่อการศึกษาวิจัยในด้านป่าไม้ สัตว์ป่า ด้านการท่องเที่ยว จุดเด่นที่น่าสนใจ ได้แก่ น้ำตกปางสีดา น้ำตกผาตะเคียน กลุ่มน้ำตกแควมะค่า กลุ่มน้ำตกถ้ำค้างคาว ภูเขาเจดีย์ ฟอสซิลไดโนเสาร์ แหล่งดูนกน้ำอ่างเก็บน้ำพระปรง แหล่งดูผีเสื้อ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งดูผีเสื้อแห่งภาคตะวันออก การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติปางสีดา จากสถานีขนส่ง จังหวัดสระแก้ว ถึงที่ทำการอุทยาน ฯ ระยะทางประมาณ 27 กม. ปัจจุบันได้รวมผืนป่า 5 ผืนป่า ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปางสีดา ทับลาน ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 3.8 ล้านไร่ เรียกว่า “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” และได้ประกาศเป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 2 ของประเทศไทย” เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548

ขนาดพื้นที่
527500.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.1 (ห้วยโสมง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.2 (คลองหมากนัด)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.3 (โคกสัมพันธ์)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.4 (ด่านตรวจ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.5 (ห้วยน้ำเย็น)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.6 (ช่องกล่ำบน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.7 (คลองเกลือ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.8 (พระปรง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.9 (เขห้วยชัน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.10 (วังครก)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ปด.11 (เขาทะลาย)

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศอุทยานแห่งชาติปางสีดาตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเทือกเขาพนมดงรัก สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน มีผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำของลำห้วยหลายสายที่ไหลรวมเป็นแม่น้ำบางปะกง โดยลักษณะของพื้นที่จะมีความลาดชันจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ เมื่อฝนตกหนักปริมาณน้ำฝนจากเทือกเขาไหลลงสู่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความลาดชันค่อนข้างสูง

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติปางสีดาเป็นแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน (Savanna Climate) ซึ่งในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีอากาศชุ่มชื้นและฝนตกตลอดฤดูแต่ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ หรือฤดูหนาวนั้นจะมีอากาศแห้งแล้ง ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนอบอ้าวทั่วไปโดยเฉพาะในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากในรอบปี ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทย อากาศจะเริ่มชุ่มชื้นและมีฝนตกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นและแห้งแล้ง แต่เนื่องจากได้รับกระแสลมจากทะเลทำให้ไม่หนาวจัดมาก 

พืชพรรณและสัตว์ป่า
พันธุ์พืช และทรัพยากรป่าไม้ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติปางสีดาครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 500,320.22 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 94.79 ของพื้นที่อุทยานฯสามารถจำแนกสังคมพืชออกได้ประเภทต่าง ๆได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่ารุ่นสอง/ไร่ร้าง และป่าไผ่ โดยสามารถสรุปผล
ได้ดังนี้
ป่าดิบชื้น (Moist Evergreen Forest) ป่าดิบชื้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ อยู่ในระดับความสูงตั้งแต่ 400 -1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดของอุทยานฯ คือ 302,123.88 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 57.24 ของพื้นที่ป่าไม้ พรรณไม้คล้ายคลึงกับป่าดิบแล้ง แต่มีพืชวงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) ชนิดต่างๆ ขึ้นมากกว่า คือ ยางกล่อง (Dipterocapus dyeri) ยางขน(Dipterocapus buadii) ยางเสียน(Dipterocapus gracilis) และกระบาก(Anisoptera costata) ตามหุบห้วยมีไม้ตุ้มแต๋น หรือลำพูป่า (Duabanga grandiflora) และกระทุ่ม(Anthocephalus Chinensis) ขึ้นอยู่ทั่วไป บริเวณลำธารมักจะมีไผ่ลำมะลอก(Dendrocalamus longispathus) ในพื้นที่ค่อนข้างสูงนั้น ยางกล่อง(Diptarocapus dyeri) ยางขน(Dipterocapus buadii) กระบาก(Anisoptera costata) จะไม่มีปรากฏอยู่แต่จะมียางดง (Dipterocapus macrocapus) และยางเข้ามาแทนที่ นอกจากนี้มีไม้ เคี่ยมคะนอง (Shorea henryana) กระตุก มะมือ (Chorospondias axillaris) จำปีป่า (Paramichellia baillonii) พะอง(Calophyllum polyamthum) และทะโล้(Schima walllichii) ไม้ชั้นรองเป็นพวกก่อชนิดต่างๆ เช่น ก่อน้ำ(Lithocapus annamensis) ก่อรัก(Quercus semiserrata) ก่อด่าง(Quercus myrsinifolia) และก่อเดือย(Castanopsis acuminatissima) ขึ้นปะปนกับ ขี้ขม(Ligustrum confusum)
ส่วนไม้พุ่มมีหลายชนิดได้แก่ ส้มกุ้ง(Embelia ribes) ข้าวสารหลวง(Measa ramentacea) ชะโอน(Viburnum punctuatum) สะพ้านก้าน(Sambucus javanica) เขาความไม้ว้อง(Uncaria homomalla) สะบ้า(Entada phaseoloides) และ คานหามเสือ(Aralia armata) เป็นต้น
บริเวณริมธารจะพบพวกต้นกูด เช่น มหาสะดำ(Cyathea borneensis) และกูดพร้าว(Latebrosa copel) ขึ้นปะปนกับ ละอองฟ้า(Pseudodrynaria coronans) ส่วนกล้วยไม้ที่พบขึ้นทั่วไป เช่น เอื้องกุหลาบพวง(Aerides falcatum) และเอื้องปากเป็ด(Cymbidium simulans)
ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) ป่าดิบแล้งกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ค่อนข้างราบในบริเวณทิศตะวันออกของอุทยาน ฯ ที่สูงระดับความสูงตั้งแต่ 100-400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ครอบคลุมพื้นที่มากเป็นอันดับสองของอุทยานฯคือ 154,452.80 ไร่ หรือร้อยละ 29.26 ของพื้นที่ทั้งหมด พรรณไม้ที่สำคัญพบทั่วไปคือ ยางนา(Dipterocarpus alatus) ยางแดง(Dipterocarpusturbinnatus) เคี่ยมคะนอง(Shorea henryana) พะยอม(Shorea roxburgii) ตะเคียนทอง(Hopea odorata) ตะเตียนหิน(Hopea Ferrea) ตะแบกใหญ่(Legerstroemiacalyculata) มะค่าโมง(Afzelia xylocarpa) สมพง(Tetrameles nudiflora) และซาก(Erythrophloeumsuccirubrum)พลองขี้นก(Memecylon floribundum) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปาล์มต้นสูงสองชนิด คือ หมากนางลิง(Areca Triandra) และลาน(Coryha lecomtei) ขึ้นกระจายทั่วไป พืชพรรณชั้นล่างเป็นไม้วงศ์ Marantadeae สกุล Phrynium และ Cucurlico วงศ์กระเจียว(Zingiberceae) สกุล Achasma สกุล Curcuma, Amomum, catimbium และ Ctenolopon ซึ่งขึ้นปะปนกับกล้วยไม้ป่า (Musa acuminata) และเตย(Pandanus)
ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) ป่าเบญจพรรณกระจายอยู่ในพื้นที่บริเวณทางทิศใต้ของอุทยานฯครอบคลุมพื้นที่มากเป็นอันดับสามของอุทยานฯคือ 32,146.89 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 6.09 ของพื้นที่ป่าไม้ พรรณไม้ที่สำคัญพบทั่วไป คือ มะค่าโมง(Afzelia xylocarpa) ประดู่(Pterocarpus macrocarpus) ตะแบกใหญ่(Legerstroemiacalyculata) ปออี้เก้ง(Pterocymbium javanicum) ซ้อ(Gmelia arborea) กว้าว(Adina pinata) และตะเคียนหนู(Anogeissus acuminata) ส่วนพืชชั้นล่าง ประกอบด้วย ไผ่ป่า(Bambusa arundinacea) และหญ้าชนิดต่างๆ
ป่าไผ่ (Bamboo Forest) ป่าไผ่กระจายอยู่บริเวณตอนกลางด้านลางของอุทยานฯมีพื้นที่ครอบคลุม4,419.55 ไร่ หรือประมาณ0.84 ของพื้นที่ป่าไม้ ส่วนใหญ่เป็นไผ่ป่า(Bambusa arundinacea)
ป่าไม้รุ่นสอง/ไร่ร้าง (Secondary Forest and Old clearing) ทุ้งหญ้า ไม้พุ่มและไม้ละเมาะ(Grass and Shrubus land)เกิดจากการทดแทนของสังคมพืชของพื้นที่ๆถูกบุกรุกแผ้วถางแล้วละทิ้งพื้นที่ไป ที่บริเวณด้านใต้ของพื้นที่อุทยานฯเป็นแนวขนานกับแนวเขตอุทยานฯ รวมพื้นที่ประมาณ 7,177.11 ไร่ และ 5,745.93 ไร่ ตามลำดับลักษณะการเกิดทุ่งหญ้าและป่ารุ่นสอง(Grassland and Secondary forest) นี้มีสาเหตุเช่นเดียวกับที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือเกิดเนื่องจากการทำไร้เลื่อนลอยในอดีต ก่อนที่จะมีการจัดตั้งอุทยานฯเมื่อมีการอพยพราษฎรลงไปสู่ที่ราบ บริเวณดังกล่าวถูกปล่อยทิ้ง ต่อมามีสภาพเป็นทุ่งหญ้าคา(Imperata cylindrica) เสียส่วนใหญ่ ทุ่งหญ้าเหล่านี้มักถูกไฟไหม้เป็นประจำ ส่วนทุ่งหญ้าบางที่เมื่อมีการป้องกันไฟมิให้ลามเข้ามาไหม้ สภาพทุ่งหญ้าก็จะเปลี่ยนสภาพมาเป็นป่าละเมาะหรือป่ารุ่นที่สอง ซึ่งมักพบพรรณไม้เบิกนำ(pioneer species) หลายๆชนิด จำนวนชั้นเรือนยอดของป่ารุ่นที่สองสามารถจำแนกได้สองชั้นเรือนยอด คือ เรือนยอดชั้นบน สูงประมาณ 8-15 เมตร พรรณไม้สำคัญที่พบคือ ตะแบกกราย(Terminalia pierrei) ติ้วเกลี้ยง พลับพลา เขลง โมกมัน และแคหางค่าง(Fernando adenophylla) โดยมีค่าดัชนีความสำคัญเท่ากับ 77.23, 43.10, 41.95, 35.38,14.28 และ 5.42 ตามลำดับ ส่วนเรือนยอดชั้นไม้พุ่ม มีความสูงไม่เกิน 8 เมตร พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ กล้วยน้อย(Xylopia vielana) อีแปะ(Vitex quinata) คำรอก(Ellipanthus tometosus) เปล้าหลวง บูตูบูแว(Gonocaryum lobbianum) และหมีเหม็น



ทรัพยากรสัตว์ป่าสัตว์ป่าที่อยู่อาศัยในบริเวณอุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว และปราจีนบุรี ซึ่งมีการศึกษาชนิดความชุกชุม ตลอดจนชีววิทยาบางประการของสัตว์ป่าที่มีกระดูกสันหลัง สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มคือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลาน้ำจืด โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 278 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 81 ชนิด จาก 58 สกุลใน 20 วงศ์ นก 143 ชนิด จาก 107 สกุล ใน 38 วงศ์ จัดเป็นนกประจำถิ่น(Resident bird) 131 ชนิด และนกอพยพย้ายถิ่น (Winter visitor) จำนวน 12 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 19 ชนิด จาก 17 สกุลใน 5 วงศ์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 16 ชนิด จาก 7 สกุล ใน 3 วงศ์ และปลาน้ำจืด 19 ชนิด จาก 17 สกุลใน 10 วงศ์(กรมป่าไม้,2543) และจากการสำรวจในฤดูหนาวพบสัตว์ป่าทั้งหมด 267 ชนิด ประกอบด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 41 ชนิด นก 188 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 26 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด โดยสัตว์ป่าทั้งหมดจำนวน 267 ชนิด ส่วนใหญ่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (224 ชนิด) สัตว์ป่าที่พบตามสถานภาพของ สผ. และ IUCN มีประเภทที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง(Critically endangered) 1 ชนิด คือ จระเข้น้ำจืด(Crocodylus Siamensis) ส่วนประเภทที่ใกล้สูญพันธุ์(Endangered)4 ชนิด ได้แก่ช้างป่า(Elephas maximus) นกกระสานวล(Ardea cinerea) นกกระสาแดง(Ardea purpurea) และเต่าเหลือง(Indotestudo elongata) ส่วนประเภทที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 10 ชนิด ได้แก่ ลิงกัง(Mecaca nemestrina) ชะนีมือขาว(Hylobates lar) หมาใน(Cuon alpinus) หมีหมาหรือหมีคน(Ursus malayanus) หมีควาย(Ursus thibetanus) เสือดาว(Panthera pardus) กระทิงหรือเมย(Bos gaurus) เม่นใหญ่(Hystrix brachyura) ตะพาบน้ำ(Amyda cartilaginea) และเต่านา(Malayemys subtrijuga)
สำหรับทรัพยากรสัตว์ป่าที่สำรวจพบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา เป็นสัตว์ป่าที่สามารถพบได้ทั่วไปพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย ยกเว้นจระเข้น้ำจืด ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีสถานภาพจัดอยู่ในประเภทสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่มีสถานภาพจัดอยู่ในประเภทที่ใกล้สูญพันธุ์และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้นพื้นที่อุทยานแห่งชาติปางสีดามีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะแหล่งอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดบริเวณแก่งยายมาก ซึ่งคาดว่าจะมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย สำหรับปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าตามธรรมชาติ ได้แก่ การที่ชาวบ้านปล่อยสัตว์เลี้ยงให้หากินบริเวณใกล้เคียงพื้นที่อุทยานฯ โดยสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อาจเข้ามาแย่งพื้นที่และขับไล่สัตว์ป่าชนิดอื่นๆในพื้นที่อุทยานฯ ได้ ปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ป่าหรือหาของป่า ซึ่งเป็นการรบกวนการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานฯการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำจากกิจกรรมนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาการวางไข่ในน้ำของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในพื้นที่อุทยานฯ 

การเดินทาง
รถยนต์
การเดินทางโดยรถยนต์
1. จากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ระยะทาง 256 กิโลเมตร จากอำเภอเมือง โดยสารรถประจำทางไปตามทางหลวงหมายเลข 3462 สายสระแก้ว - บ้านคลองน้ำเขียว ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติปางสีดา

เดินทางโดยรถไฟ
2. สายตะวันออก กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ เที่ยวแรกออกเวลา 06.00 น. เที่ยวสองออก 13.00 น. ถึงสถานีรถไฟสระแก้ว แล้วนั่งรถโดยสารจากอำเภอสระแก้วถึงที่ทำการอุทยานฯ ดังข้างบน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น