Our social:

อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด

ที่ตั้งและแผนที่
สถานที่ติดต่อ : หมู่ที่ 2 ตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช 80120 

โทรศัพท์/โทรสาร : 075-470708 

อีเมล : sikit2518@hotmail.com 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายสัญญา สังวังเลาว์ 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 

ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท 
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท 

ในอดีตผืนป่าบริเวณนี้หนาทึบและมีสัตว์ป่าชุกชุม ชาวบ้านจึงเรียกด้วยชื่อน่าสะพรึงกลัวว่า “ผีขีด” ภายหลังจึงเพี้ยนมาเป็น สีขีด พื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด ซึ่งเป็นเขาหินปูน จึงก่อให้เกิดน้ำตกหินปูนที่สวยงาม และยังมีถ้ำที่น่าพิศวงหลายแห่ง อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีดมีพื้นที่ประมาณ 90,625 ไร่ หรือ 145 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในแนวทิวเขานครศรีธรรมราชที่สูงชันสลับซับซ้อน มีสันปันน้ำเป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี 

เดิมพื้นที่บริเวณน้ำตกสี่ขีดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางโพรงและป่าเขาใหญ่ ท้องที่ตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่มีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงาม เช่น น้ำตก เกาะแก่ง แอ่งน้ำ โขดหิน และพันธุ์ไม้ตระกูลต่างๆ มากมาย สมควรที่จะได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงได้กำหนดพื้นที่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอสิชล และเพื่อเป็นการสนองนโยบายดังกล่าว อำเภอสิชล จึงรณรงค์จัดทำโครงการอนุรักษ์ป่าเพื่อชุมชนบริเวณน้ำตกสี่ขีด และเสนอกรมป่าไม้พิจารณาจัดตั้งเป็นวนอุทยานต่อไป เพื่อเป็นการรักษาสภาพภูมิประเทศอันสวยงามและอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารสำหรับราษฎรได้ใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียงน้ำตกได้ถูกราษฎรบุกรุกทำลายป่าเพื่อครอบครองที่ดินอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้ และในเรื่องนี้ นายชำนิ บุญโยภาส อธิบดีกรมป่าไม้ ได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งพื้นที่บริเวณน้ำตกสี่ขีด ในป่าสงวนแห่งชาติป่ายางโพรงและป่าเขาใหญ่ เป็นวนอุทยานเมื่อเดือนกันยายน 2529 แต่การดำเนินงานต้องหยุดชะงักลงเพราะปัจจัยข้อกำหนดด้านงบประมาณ จนกระทั่งปีงบประมาณ 2532 จึงได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการได้ 

เนื่องจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ายางโพรงและป่าเขาใหญ่ มีอาณาเขตกว้างขวางประมาณ 60,625 ไร่ มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามมากมายหลายแห่ง เช่น น้ำตกสี่ขีด น้ำตกสำนักเนียน ถ้ำเขาพับผ้า และถ้ำสวนปราง เป็นต้น เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงการเกษตรกรรมของอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างชุกชุม ประกอบกับพื้นที่นี้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ได้ถูกราษฎรบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าเพื่อจับจอง ที่ดินอย่างกว้างขวางและรุนแรง กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 584/2532 ลงวันที่ 14 เมษายน 2532 ให้ นายสมพล ศิลปธีรธร นักวิชาการป่าไม้ 4 กองอุทยานแห่งชาติ ไปปฏิบัติงานประจำทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานน้ำตกสี่ขีด และให้ดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมพื้นที่บริเวณใกล้เคียงที่มีความเหมาะสม เพื่อประกอบการพิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป ซึ่งในการสำรวจครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ป่าใกล้เคียงในเขตท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าชัยครามและป่าวัดประดู่ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของป่าสงวนแห่งชาติป่ายางโพรงและป่าเขาใหญ่ 

อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีดประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 48 ก วันที่ 17 มิถุนายน 2542 กำหนดบริเวณที่ดินป่าชัยคราม และป่าวัดประดู่ ในท้องที่ตำบลท่าอุแท ตำบลคลองสระ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และป่ายางโพรง และป่าเขาใหญ่ ในท้องที่ตำบลสี่ขีด ตำบลเขาน้อย อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2542

ขนาดพื้นที่
90625.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สข.1 (สวนปราง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สข.2 (สำนักเนียน)

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับกับเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อนเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานครศรีธรรมราช (เทือกเขาบรรทัด) ซึ่งกั้นแดนระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานี กับจังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอสิชล แนวเขาวางตัวในแนวทิศเหนือ - ใต้ เป็นแนวยาวขนานกับฝั่งทะเลตะวันออก ตอนกลางเป็นเทือกเขาที่สูงชันสลับซับซ้อนมีลักษณะเป็นสันปันน้ำโดยลาดต่ำไปทางตะวันออกและทางตะวันตก ที่ราบส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันออก พื้นที่นี้มียอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดเขาคีโหมด สูง 1,303 เมตร ยอดเขาอื่น ๆ เช่น ยอดเขานาง สูง 881 เมตร ยอดเขาวังพุง สูง 600 เมตร ยอดเขาปลายคราม สูง 599 เมตร ยอดเขาขุนห้วยแก้ว สูง 582 เมตร ความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลปานกลางโดยเฉลี่ยประมาณ 700 เมตร มีหุบเขาที่เป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยต่าง ๆ มากมาย ซึ่งทำให้เกิดแอ่งน้ำและน้ำตกเป็นชั้น ๆ ต่อเนื่องกันเป็นลำดับ มีเขาบางลูกเป็นภูเขาหินปูน จึงเกิดถ้ำที่สวยงามน่าพิศวงมากมายหลายแห่ง เช่น ถ้ำเขาพับผ้า ถ้ำสวนปราง เป็นต้น 

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศ อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมาลายูได้รับลมมรสุมพัดผ่านทะเลทั้งสองด้านทำให้มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี อากาศค่อนข้างเย็นสบาย ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - มกราคม มีฝนตกชุกในเดือน พฤศจิกายน ฤดูแล้งเริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27.3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 33.80 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม 21.8 องศาเซลเซียส 

พืชพรรณและสัตว์ป่า
จากลักษณะพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีดที่มีสภาพภูมิอากาศเป็นภูเขาสูงขันสลับซับซ้อนมีอาณาเขตบริเวณกว้างขวาง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 100 เมตร ขึ้นไป จนถึง 1,303 เมตร พื้นที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม จึงทำให้มีความชื้นและปริมาณน้ำฝน เฉลี่ยสูงสังคมพืชที่ขึ้นจึงมีลักษณะของป่าดิบชื้นเป็นส่วนใหญ่ มีพันธุ์พืชมากมายหลายชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งมีลักษณะและชนิดของสังคมพืชที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

ป่าดิบชื้น (Tropical Evergreen Forest) ป่าดิบชื้นเป็นป่าที่มีใบสีเขียวตลอดปี สภาพป่ารกทึบ ทั้งในเรือนยอดของไม้ใหญ่ และชั้นไม้พื้นล่างครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ โดยมากจะพบตามหุบเขาและริมห้วยที่มีความชื้นสูง และแบ่งเป็นสังคมย่อยได้ตามลักษณะของความสูง ของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และชนิดของพืชพรรณ ที่ขึ้นอยู่ได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
1) ป่าดิบชื้นในพื้นที่ต่ำ ขึ้นอยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นราบริมห้วย และหุบเขา พื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมานไม่เกิน 300 เมตร โครงสร้างของป่า มีอยู่ 3 ระดับชั้นเรือนยอด เรือนยอดชั้นบนสูง 30- 50 เมตร พรรณไม้สำคัญที่พบ ได้แก่ ไม้ในวงศ์ ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) ไม้ตะเคียนทอง ตะเคียนทราย หลุมพอ พะยอมทราย ไข่เขียว เป็นต้น เรือนยอดไม้ชั้นสอง มีความสูงตั้งแต่ 15 - 30 เมตร พรรณไม้ที่พบ ได้แก่ ไม้ยางแรด ส้านขน ก่อรุก ก่อข้าว เป็นต้น เรือนยอดไม้ ชั้นที่สาม มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร พรรณไม้สำคัญที่พบ ได้แก่ ชมพู่ป่า คอแลน ไฟกา และชก เป็นต้น พื้นทีประกอบไปด้วยกล้าไม้ ของไม้ชั้นบน ไม้พุ่มชนิดต่าง ๆ เช่น ยี่หุบปรี ยายครั่ง พืชในวงศ์ขิงข่า นอกจากนั้นยังพบไม้เถาเลื้อย หลากหลายชนิด เช่น เปื่อย เตยย่าน คอกิ่วย่าน คุย และหวายนานาชนิด เช่น หวายแดง หวายเล็ก หวายกำพวน หวายงวย เป็นต้น
2) ป่าดิบชื้นเชิงเขาเป็นป่าที่เกิดอยู่ในบริเวณที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางมากกว่า 300 เมตร ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1,000 เมตร โครงสร้างของป่า มีอยู่ 3 ระดับชั้นเรือนยอด โดยเรือนยอดชั้นบนสูง 30-50 เมตร พรรณไม้สำคัญที่พบ ได้แก่ ไม้ในวงศ์ ไม้ยาง ป่าชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ป่ายางเชิงเขา พรรณไม้ที่พบได้แก่ ยางปาย ยางแดง และยางเสี้ยน เป็นต้น เรือนยอดไม้ชั้นที่สองมีความสูงตั้งแต่ 15 - 30 เมตร พรรณไม้สำคัญที่พบ ได้แก่ พญาไม้ ก่อเรียน ก่อเล็ก ทองสุก เต่าร้างยักษ์ ไม้สาย และสังเกียด เป็นต้น ส่วนไม้ชั้นที่ สามมีความสูงตั้งแต่ 5-15 เมตร มีพรรณไม้สำคัญ ที่พบ คือ ไม้ส้มโหลก กะเบาลิง และไม้ในวงศ์น้อยหน่า หลายชนิด พื้นล่างชองป่าปกคลุมไปด้วยไม้พุ่ม และพืชคลุมดินต่าง ๆ เช่น พืชสกุลพลอง ชนิดต่างๆ (Memecylon sp.) พืชในวงศ์ขิงข่า (Zingberaceae) พืชในวงศ์อังกาบ(Acanthaceae) และพืชพวกเฟิร์นหลายชนิดรวมทั้ง มหาสดำ หรือเฟิร์นยักษ์ส่วนไม้เถาเลื้อยมีอยู่นานาชนิด แต่ที่สำคัญคือหวายชนิดต่าง ๆ เช่น หวายเทิงหรือหวายปู่เจ้า หวายขี้ไก่ หวายผึ้ง หรือหวายหิน หวายเสี้ยน และหวายแส้ม้า เป็นต้น
ป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest)
ป่าดิบเขาเป็นพื้นที่ป่าที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป ความสูงของพื้นที่ในระดับนี้จะขึ้นถึงยอดเขาที่มีเมฆหมอกคลุมทำให้อากาศชื้นเสมอ พรรณไม้ที่พบจะมีระดับเรือนยอดค่อนข้างสม่ำเสมอ เป็นชั้นเดียวกัน คือสูงประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นมีมอสและเฟิร์นเกาะอาศัยอยู่ พันธุ์ไม้สำคัญที่สำรวจพบ ได้แก่ เหมือด กำยาน หัวเต่า บังตาน ติ่ง แดงเขา ก่อเขา และก่อใบเอียด เป็นต้น ไม้พุ่มเป็นพวกตาเป็ด ตาไก่ เคลง และเนียม พืชคลุมดินส่วนใหญ่ เป็นพวกมอสและเฟิร์น ซึ่งขึ้นคลุมอย่างหนาแน่น และมีไม้ล้มลุกที่หายาก อีกหลายชนิด เช่น ดาวสามแฉก กล้วยไม้ดินชนิดต่าง ๆ

ป่ารุ่น หรือ ป่าเหล่า (Secondary Forests)
เป็นสังคมพืชที่เกิดทดแทน สภาพธรรมชาติเดิม ภายหลังการทำลายของมนุษย์ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ประกอบด้วย พืชเบิกนำ (Pioneer Species) ได้แก่ แสดหรือสอยดาว ปอหูช้าง กะลอขนล่อ พังแหรใหญ่ ห้อกา
ทุ้งฟ้า เป็นต้น

ทรัพยากรพืช (พืชหายาก หรือพืชเฉพาะถิ่น)
1. จำปูนช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Talauma candollei
2. กฤษณา วงศ์ Thymelaeaceae
3. หลุมพอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Intsia palembanica
4. กล้วยไม้รองเท้านารีเผือก

ทรัพยากรสัตว์ป่า (สัตว์ป่าหายาก หรือสัตว์ป่าเฉพาะถิ่น)
1. เลียงผา ชื่อสามัญ Serow ชื่อวิทยาศาสตร์ Copricornis Sunatraensis
2. สมเสร็จ
 3. กวางป่า ชื่อสามัญ Sambar deer ชื่อวิทยาศาสตร์ Cervus unicolor
4. ช้างป่า ชื่อสามัญ Asian elephant
 5. นกเงือก
 6. เสือลายเมฆ
7. หมี 

การเดินทาง
เส้นทางคมนาคมและการเข้าถึงพื้นที่
1.จากจังหวัดนครศรีธรรมราชใช้เส้นทางหมายเลข 401 ระยะทาง 69 กิโลเมตรถึงสี่แยก
อำเภอสิชล (สี่แยกต้นพยอม) เลี้ยวซ้ายระยะทาง 15 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด
2.จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้เส้นทางหมายเลข 401 ระยะทาง 52 กิโลเมตร ถึงสามแยก
เขาหัวช้าง เลี้ยวขวาระยะทาง 10 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด 

สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก และสถานที่กางเต็นท์
ห้องประชุมสัมมนา - ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
ห้องประชุมสัมมนา - ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยว
น้ำตกสี่ขีดน้ำตกไผ่ตง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น