Our social:

อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง

ที่ตั้งและแผนที่
อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง 
หมู่ที่ 8 ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี 
จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

สถานที่ติดต่อ 
อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง 
ตู้ ปณ.93 อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 
84000 

โทรศัพท์ 09-0878-0774 
อีเมล: kaengkrungpark@gmail.com, tee_kaengkrung@hotmail.com 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ: นายผดุงศักดิ์ เสือแก้ว 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 

ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท 
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท 

สืบเนื่องมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีโครงการสร้างเขื่อนแก่งกรุง บริเวณพื้นที่ป่าท่าชนะ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ และกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 1169/2532 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 ให้นายเดชาวุธ เศรษฐพรรค์ นักวิชาการป่าไม้ 5 ไปสำรวจพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้นบริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำแก่งกรุง และพื้นที่ป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าชนะ และป่าเตรียมการสงวน คลองสก-คลองแสง-คลองยัน ในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปรากฎว่าบริเวณดังกล่าว เป็นป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์มากประกอบด้วยพันธุ์ไม้มีค่าหลายชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มีสัตว์ป่าชุกชุม และนกนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามแลสำคัญยิ่ง คือ ป่าส่วนนี้เป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธารที่หล่อเลี้ยงชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร ต่อมากรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 892/2532 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2532 ให้นายเดชาวุธ เศรษฐพรรค์ ไปดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าชนะ และป่าเตรียมการสงวน คลองสก-คลองแสง-คลองยัน ท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ (กรมป่าไม้) ได้รับรายงานจากนายเดชาวุธ เศรษฐพรรค์ ตามหนังสือ ที่ กษ 0713/พิเศษ ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2532 เห็นสมควรใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติแห่งนี้ว่า “อุทยานแห่งชาติคลองยัน” เนื่องจากเป็นคลองสำคัญ และเป็นจุดเด่นในพื้นที่ แต่กองอุทยานแห่งชาติ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวรัฐบาลมีโครงการสร้างเขื่อนแก่งกรุง ประกอบกับชื่อแก่งกรุง เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย จึงเห็นสมควรใช้ชื่ออุทยานแห่งชาตินี้ว่า “อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง” กรมป่าไม้ จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแหงชาติ ครั้งที่ 1/2533 เห็นสมควรให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดพื้นที่ป่าท่าชนะ ในท้องที่ตำบลคันธุลี ตำบลคลองพา ตำบลสมอทอง ตำบลประสงค์ อำเภอท่าชนะ ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา ตำบลปากฉลุย อำเภอท่าฉาง และตำบลตะกุกเหนือ กิ่งอำเภอวิภาวดี (เดิมเป็นอำเภอคีรีรัฐนิคม) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 108 ตอนที่ 211 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 69 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 338,125 ไร่ หรือประมาณ 541 ตารางกิโลเมตร

ขนาดพื้นที่
338125.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกรุงที่ กก.1 (ไทรเก้าโคน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกรุงที่ กก.2 (ไร่ยาว)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกรุงที่ กก.3 (ทับสมิง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกรุงที่ กก.4 (คลองพา)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกรุงที่ กก.5 (บางจำ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกรุงที่ กก.6 (ทับทหาร)

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ประกอบด้วยพื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อนในแนวเหนือ –ใต้ ด้านตะวันตกของพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีติดต่อพื้นที่จังหวัดระนอง เทือกเขาในตอนกลางของอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงเป็นต้นน้ำแม่น้ำหลังสวนด้านทิศเหนือ และคลองยันทางทิศใต้ มียอดเขาสูงที่สำคัญ 4 แห่งด้วยกันคือ ยอดเขาแดน ,ยอดเขายายหม่อน,ยอดเขานมสาว และยอดเขาไผ่ ซึ่งยอดเขาที่สูงที่สุดคือยอดเขาแดนสูงประมาณ 849 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่พื้นที่มีลักษณะเป็นเขาดิน แร่สำคัญทีมีอยู่ในบริเวณนี้ คือ แร่ดีบุก

ลักษณะภูมิอากาศ
เนื่องจากสภาพพื้นที่โดยทั่วไป ยังเป็นป่าดิบชื้น ดังนั้นสภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปจึงมีความชื้นสูง ซึ่งทำให้มีฝนตกเกือบตลอดปี และมีอากาศค่อนข้างเย็น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ จึงมีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ
ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน
ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มกราคม 

พืชพรรณและสัตว์ป่า
เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมีปริมาณฝนตกชุก ทำให้ปกคลุมไปด้วยป่าดิบชื้น พบพันธุ์ไม้มากมายทั้งประเภทไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ซึ่งมีค่าทางเศรษฐกิจ และน่าศึกษาค้นคว้าวิจัย รวมทั้งเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่ามากมาย ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม้พุ่ม ไม้พื้นล่างชนิดต่าง ๆ เถาวัลย์ ไม้จำพวกหวาย และปาล์มขึ้นปะปนกันอย่างหนาแน่น
พันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจที่พบมาก ได้แก่ ไม้หลุมพอ ไม้จำปา ไม้ตะเคียน และไม้ยางชนิดต่าง ๆ ไม้พื้นล่างพวกเฟิร์นมีขึ้นทั่วไป รวมทั้งเถาวัลย์ชนิดต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ทำให้สภาพป่าแน่นทึบมาก
สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ที่พบประกอบด้วย ช้างป่า เสือ หมี กระทิง วัวแดง สมเสร็จ กระจง ชะนี ลิง ค่าง กวาง หมูป่า ลิงเสน ค่างดำ และนกนานาชนิด เช่น นกปรอดต่าง ๆ นกชนหิน นกแซงแซวปากกา นกกก นกหว้า นกเขียวคราม ไก่ป่า และสัตว์อื่น ๆอีกมากมาย รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลาน 

การเดินทาง
เดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร ถึงทาง แยกเข้ากิ่งอำเภอวิภาวดี เดินทางผ่านกิ่งอำเภอวิภาวดี ผ่านหมู่บ้านท่านหญิง ลัดเลาะสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ระยะทางประมาณ 54 กิโลเมตร โดยมีทางลูกรังอีกประมาณ 13 กิโลเมตร

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น