Our social:

อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี

ที่ตั้งและแผนที่
สถานที่ติดต่อ: 130 หมู่ 3 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง 85000 

โทรศัพท์ : 0-7798-9817 

อีเมล: lumnamkraburi@hotmail.com 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายอภิชาติ แสงประดับ 

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ 
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท 
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท 

อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งทะเลอันดามัน ในท้องที่อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2542 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 29 ก ลงวันที่ 21 เมษายน 2542 ครอบคลุมพื้นที่ 160 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนติดกับประเทศสหภาพพม่าทางด้านทิศตะวันตก โดยมีแม่น้ำกระบุรีเป็นเส้นแบ่งกั้นของประเทศทั้งสอง พื้นที่ประมาณ 64 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 40 ของพื้นที่ ในแม่น้ำมีเกาะจำนวน 6 เกาะ ได้แก่ เกาะเสียด เกาะขวาง เกาะโชน เกาะยาว เกาะปลิง และเกาะนกเปล้า

ขนาดพื้นที่
100000.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ กบ.1 (หาดยาย)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ กบ.2 (เขาเมืองสูง)

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
1. สภาพพื้นที่
อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี มีพื้นที่โดยรวม 160 ตารางกิโลเมตร หรือ 100,000 ไร่ ประกอบด้วย
1.1 ลำน้ำกระบุรี เป็นแม่น้ำที่กั้นระหว่างประเทศไทยและประเทศสหภาพพม่า มีพื้นที่รวมในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่หรือประมาณ 40,000 ไร่ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูเก็ตไหลมาทางทิศตะวันตกผ่านอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง และไหลผ่านไปทางทิศใต้ผ่านอำเภอละอุ่น ลงสู่ทะเลอันดามันที่ปากแม่น้ำกระบุรี อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ซึ่งมีระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ช่วงกว้างที่ประมาณ 6 กิโลเมตร
1.2 ป่าชายเลน ครอบคลุมริมฝั่งแม่น้ำกระบุรีและบริเวณหมู่เกาะในลำน้ำกระบุรี อันประกอบ ด้วย
เกาะขวาง เกาะยาว เกาะปลิง เกาะโชน เกาะเสียด และเกาะนกเปล้า ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 15,000 ไร่
1.3 ป่าดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 3 แห่ง
- ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองลำเลียง - ละอุ่น
- ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเส็ตกวด ป่าเขาหินช้างและป่าเขาสามแหลม
- ป่าสงวนแห่งชาติป่าละอุ่นและราชกรูด
ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น อำเภอเมือง จังหวัดระนองมีพื้นที่โดยรวม 45,000 ไร่
2. อาณาเขต
ทิศเหนือ จดอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
ทิศใต้ จดอำเภอเมือง จังหวัดระนอง
ทิศตะวันออก จดอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง
ทิศตะวันตก จดประเทศสหภาพพม่า 

ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะอากาศทั่วไป
เนื่องจากจังหวัดที่อยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อย่างเต็มที่จึงมีฝนตกชุกหนาแน่นกว่าจังหวัดอื่นและตกเกือบทั่วไป ส่วนฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด เพราะอยู่ไกลจากอิทธิพลของอากาศหนาวพอสมควรแต่บางครั้งอาจมีฝนตกได้ เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยเอาฝนมาตกปริมาณน้อยกว่าจังหวัดที่อยู่ทางด้านตะวันออกของภาคใต้
- อุณหภูมิ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทรที่เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลจึงได้รับลมมรสุมอย่างเต็มที่คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมากอุณหภูมิเฉลี่ยจึงสูงไม่มากนัก และอากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน อากาศจะอบอุ่นในช่วงฤดูฝน ส่วนในฤดูหนาวอากาศจะเย็นบ้างเป็นบางครั้ง อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีประมาณ 27.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงที่สุดเฉลี่ย 34.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.5 องศาเซลเซียส เดือนเมษายนเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ที่ผ่านมาวัดอุณหภูมิสูงสุดได้ 39.6 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2526 และวันที่ 19 เมษายน 2516 อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 13.7 องศาเซลเซียส
- ความชื้นสัมพัทธ์ ความชื้นสัมพัทธ์กับมวลอากาศมีอิทธิพลกับลมมรสุมเป็นสำคัญ ตลอดทั้งปีของจังหวัดระนองจะมีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งสองฤดูอย่างเต็มที่ ลมมรสุมนี้ก่อนจะพัดเข้าสู่บริเวณจังหวัดได้พัดผ่านทะเลและมหาสมุทรจึงได้พัดพาเอาไอน้ำและความชื้นมาด้วยทำให้บริเวณจังหวัดระนองมีความชุ่มชื้นและความชื้นสัมพัทธ์สูงเป็นเวลานาน ความชื้นสัมพัทธ์ตลอดทั้งปีปริมาณ 79.2%
ฤดูกาลของจังหวัดระนองแบ่งตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทย แบ่งออกได้เป็นสามฤดู
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างมรสุม จะมีลมทิศตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้อากาศร้อนทั่วไป อากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน
แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากเป็นภูมิประเทศในคาบสมุทรอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก
- ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย และร่องความกดอากาศต่ำจะพัดผ่านประเทศไทยเป็นระยะๆ ทำให้ฝนตกมากตลอดฤดูฝนและเดือนสิงหาคมจะมีฝนตกมากที่สุดในรอบปี
ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออก -เฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากจังหวัดระนองอยู่ใกล้ทะเลอุณหภูมิลดลงเล็กน้อยเป็นครั้งคราว อากาศไม่หนาวเย็นมากนัก และตามชายฝั่งจะมีฝนตกทั่วไปแต่มีปริมาณไม่มากนัก 

พืชพรรณและสัตว์ป่า
พันธุ์พืชที่พบเห็นบนนำตกปุญญบาลคือขุนไม้หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพญาไม้
ลักษณะทางชีวภาพ
สภาพป่าและพืชพรรณ อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรีมีความหลากหลายทางด้านชนิดพันธุ์พืชสูง เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น สภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมแตกต่างกัน ทำให้เกิดสภาพป่าตามปัจจัยแวดล้อม ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทดังนี้
ป่าดิบชื้น (Moist Evergreen Forest) จากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี ช่วงฤดูฝนที่นานพอ ทำให้สังคมพืชที่ขึ้นมีความหนาแน่นมาก ชั้นเรือนยอดสูง อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรีมีป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์พบตามภูเขาและเกาะซึ่งป่าชนิดนี้จะพบได้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติคลองเส็ตกวดป่าเขาหินช้าง ป่าเขาสามแหลม และป่าสงวนแห่งชาติป่าละอุ่น - ป่าราชกรูด ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรีซึ่งป่าดังกล่าวมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และการดำรงชีพของประชาชนที่อยู่บริเวณข้างเคียงเพราะเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ
พรรณพืชที่สำรวจพบในพื้นที่ไม้เด่นจะอยู่ในวงศ์ยาง (DIPTERROCAPACEAE) เช่น ยางยูง (Dipterocapus grandiflorus) , ยางปาย (D. costatus) , กระบาก (Fnisopters costa) , ตะเตียนทราย (Hopes pieerei) , ตะเคียนสามพอน (Shores rogersiana) , หงอกค่าง(Parishia insigmis) , ตะโค (Daracontomelum mangiferum) พันธุ์ไม้ชนิดอื่นที่พบเห็นได้ในป่าดิบชื้น เช่น พันธุ์ไม้ในวงศ์มะพลับ (EBENNACEAE) , เช่น เนียน (Diospyros wallichii) วงศ์ EUPHORBIACEAE เช่น โพบาย (Sapium baccatum) , ดีหมี (Cleidion javanicum) วงศ์ SAPOTACEAE ขนุนนก (Palaguium obovatum)
ไม้พื้นล่างที่พบส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ขิง-ข่า (ZINGIBERACEAE) เช่น ปูด (Globba spp.) , กระทือ (Zingiber spp.) พันธุ์ไม้ตระกูล Boesenbergia ,เงาะป่า (Kaempfceria pulchra) เป็นต้น มักพบในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีความชื้นในอากาศสูง และพันธุ์ไม้ในวงศ์หมาก (PALMEA) เช่น หวายใน ตระกูล Calamus, Korthalsia , เต่าร้าง (Garyota sp.) เป็นต้น

ป่าชายเลน (Mangrove forest) อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี เป็นอุทยานหนึ่งที่มีป่าชายเลนสมบูรณ์ ดินมีสภาพเป็นดินเลนลำน้ำกระบุรีเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและทำให้ป่าชายเลนยังคงมีอยู่ได้ น้ำในลำน้ำเป็นน้ำกร่อย เพราะน้ำทะเลหนุน ซึ่งป่าชายเลนจะพบมากบริเวณปากแม่น้ำคลองละอุ่น ลำน้ำกระบุรีด้านข้างเขาหินช้างและหมู่เกาะซึ่งพันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ พันธุ์ไม้ในวงศ์ เช่น โกงกางใบเล็ก (Zrhizophora apiculata), โกงกางใบใหญ่ (R. mucronata), ถั่วดำ (Briguiera pamviflora), โปรงแดง (Ceriops tagal) ซึ่งมักจะพบบริเวณด้านนอกของป่าที่ใกล้กับลำน้ำกระบุรีหรือคลอง และไม้ในสกุลพังกา (Brnguiera spp.), วงศ์ AVECENNIAEAE ได้แก่ไม้ในสกุล ไม้แสม (Avicennia spp.) สกุลตะบูน (Xylocarpus spp.) นอกจากนี้ไม้พื้นล่างที่พบเช่น เหงือกปลาหมอดอกม่วง (Acanthua ilicifolius) กระเพาะปลา (Finlaysonia maritima) เป้งทะเล (Phoenix paludosa) และจาก (Nypa sruticans) เป็นต้น
สังคมพืชทดแทน ในอดีตสภาพป่าบางส่วนมีการบุกรุกแผ้วถางเปลี่ยนสภาพเพื่อทำการเกษตรกรรมในรูปแบบต่างๆ ทำให้ปัจจุบันมีสภาพเป็นไร่ร้าง ดินเสื่อมสภาพ พันธุ์พืชที่พบมักเป็นหญ้าคา (Imperata cylindrica) เป็นส่วนใหญ่ บางที่จะพบผกากรอง (Lantana aslvifolia) ขึ้นแซมตามหญ้าคาด้วยในบริเวณรอยต่อระหว่างหญ้าคากับป่าดิบชื้น หรือบริเวณสังคมพืชทดแทนที่ถูกทิ้งเป็นเวลานาน ทำให้มีไม้เบิกนำเขาทดแทน จะพบในต้นและไม้พื้นล่างขึ้นห่างแทนที่หญ้าคา พันธุ์ไม้ที่มักพบ เช่น มังตาล (Schima wallichii) , ปอหู (Hibisscus macrophyllus) , ส้านใหญ่ (Dillinia obovata) , เปล้าน้อย (Croton delpyi) , สอม (Grypteronia paniculata) และค้อ (Livistona speciosa) เป็นต้น

สัตว์ป่า ประเทศไทยจัดได้ว่ามีความหลากหลายและอุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะสัตว์ป่าเพราะตั้งอยู่ในแนวที่ติดต่อกับเขตภูมิศาสตร์ทั้งสามเขต โดยประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์อินโดจีน ซึ่งมีทุ่งหญ้าหรือป่าโปรงอยู่ทั่วไป ตามที่ราบหรือบริเวณที่สูงไม่มากนัก ดังนั้นสัตว์จากภูมิภาคนี้จึงมีความสำคัญกับทุ่งหญ้าและป่าโปรงพอสมควร ภูมิอากาศแบบมรสุมซึ่งมีความแตกต่างในแต่ละฤดูกาลมาก

อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของสัตว์ป่าเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความหลากหลายด้านประเภทสัตว์ป่า และเป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นแหล่งอาหาร อีกทั้งพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรียังมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่า ผืนอื่นๆ ทำให้เหมาะแก่การอาศัยอยู่และหลบภัยจากสัตว์ต่างๆ
การสำรวจสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรียังไม่มีการสำรวจแบบละเอียด แต่ข้อมูลในปัจจุบันซึ่งมาจากหลายๆแห่ง มีความน่าเชื่อถือพอสมควรและจากการพบการปรากฏของสัตว์ป่าซึ่งแบ่งประเภทได้ดังนี้

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) จากการสำรวจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวนชนิดอยู่ในระดับที่หลากหลายหากเทียบกับจำนวนพื้นที่ดังนี้
- อันดับถิ่น (Manis Javanica) ซึ่งพบเห็นได้ง่าย เพราะอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าทุกประเภท
- อันดับสัตว์กินแมลง ซึ่งได้แก่หนูชนิดต่างๆ ซึ่งข้อมูลทางด้านนี้ยังมีไม่เพียงพอ
- อันดับบ่าง พบเห็นได้ทั่วไปตามป่าดิบชื้น
- อับดับค้างคาว มีความหลากหลายเป็นอย่างมากตามป่าทุกประเภท
- อันดับวานร ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรีจากการพบเห็นชนิดต่างๆ ของสัตว์ในอันดับนี้และข้อมูลในปัจจุบัน เช่น ลิงกัง (Macaca nemesteing) ซึ่งอาศัยตามป่าดิบชื้นทั่วไป แต่ไม่ง่ายนักที่พบตัวรวมตัวกันอยู่กันเป็นฝูง ลิงแสม (Macaca fascicularis)พบเห็นได้ง่ายตามป่าชายเลน และมีประชาชนค่อนข้างมาก ลิงเสน(Macaca aretodes ) พบเห็นได้ยาก ค่างแว่นถิ่นใต้ซึ่งพบเห็นได้ยาก ทั่วไปตามป่าดิบชื้นที่มีเรือนยอดของไม้สูง บางครั้งพบเห็นเป็นฝูง 10 - 15 ตัว
-อันดับสัตว์ผู้ล่า (Canivor) จากการสอบถามและพบเห็นบ้างในบางครั้ง ทำให้ทราบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอันดับนี้ มีบางชนิดที่หายากและข้อมูลที่พบเห็นไม่บ่อยนักในบางครั้งจะพบเห็นเฉพาะรอยตีนของสัตว์ เช่น หมีหมาหรือหมีคน(Ursus malayanus), นากใหญ่ขนเรียบ(Viverra zibetha), ชะมดเช็ด(Viverricula indica) , พังพอน(Herpestes sp.) เป็นต้น
- อันดับสัตว์กีบคู่ เช่น หมูป่า (Cus scrofa) กระจงหนูหรือกระจงเล็ก(Tragulus jaramicus), กวางป่า(Cervus unicolor), เก้งหรือฟาน(Muntiacus muntiac), เก้งหม้อ(Muntiacus feac) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนพบเห็นตามป่าดิบชื้นใกล้แหล่งน้ำซึ่งคนในท้องถิ่นเรียก กวางจุก โดยการพบเห็นเก้งหม้อ มีการพบเห็นบ่อยพอสมควรทั้งจากคนในท้องถิ่นจากแนวเขตพื้นที่และจากเจ้าหน้าที่ที่ออกตรวจปราบปราม.เลียงผา. หรือ โครำ อีกชนิดหนึ่งที่เป็นสัตว์ป่าสงวน ซึ่งบางครั้งพบว่าเลียงผามีการเข้ามาจากฝั่งประเทศสหภาพพม่า
- อันดับฟันแทะ เช่น พญากระรอกดำ(Ratufa bicolor) กระรอกปลายหางดำ กระรอกท้องแดง
นก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี และในสภาพที่ที่เป็นป่าไม้ ลำห้วย คลอง พื้นที่โล่ง ลำน้ำและป่าชายเลน ซึ่งมีความหลากหลายของถิ่นที่อยู่ ดังนั้นจึงพบเห็นนกชนิดต่าง ๆเข้ามา พื้นที่ทั้งที่อยู่ประจำถิ่น ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 106 ชนิด (ตามตารางที่ 2) และสิ่งที่หน้าแปลกคือ มีการพบ นกเงือกกรามช้าง ประชากรทั้งหมด 18 ตัว บินเข้ามาในประเทศสหภาพพม่า เข้ามาหากินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรีและบินกลับในตอนเย็น

การเดินทาง
ถนนทางเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี เป็นทางแยกจากทางหลวงหมายเลข 4 บริเวณกิโลเมตรที่ 595 เข้าไปอีก 1 กิโลเมตร ซึ่งห่างจากตัวอำเภอเมือง จังหวัดระนอง 18 กิโลเมตร

พื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี มีอาณาเขตด้านทิศตะวันออกติดกับถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4 ) เป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร ทำให้สามารถเดินทางเข้าถึงพื้นที่ได้สะดวก ส่วนทางทิศใต้ได้ยึดเอาทางหลวงจังหวัดจากตัวเมืองระนองไปปากคลองด่านแม่น้ำระนอง โดยผ่านสุสานเจ้าเมืองระนอง ดังนั้น ความสะดวกในเรื่องการคมนาคมจึงมีศักยภาพสูง ส่วนทางสัญจรในลำน้ำกระบุรี สามารถเดินทางโดยเรือทุกขนาดได้ตลอดทั้งปีและฤดูกาล

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น