Our social:

อุทยานแห่งชาติเอราวัณ

ที่ตั้งและแผนที่
อุทยานแห่งชาติเอราวัณ
หมู่ 4 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี 71250

โทรศัพท์ : 0 3457 4222, 0 3457 4234, 08 1914 8791 โทรสาร : 0 3457 4288

อีเมล: erawan_np@hotmail.co.th

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายปรยุษณ์ ไวว่อง
ตำแหน่ง : เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 300 บาท เด็ก 200 บาท

สมัย พณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้มีมติการประชุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กระทรวงเกษตร (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน) ดำเนินการจัดตั้งป่าเทือกเขาสลอบท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2504-2515 โดยใช้บริเวณน้ำตกเอราวัณเป็นศูนย์กลางการสำรวจ พบว่า บริเวณป่าเทือกเขาสลอบ จังหวัดกาญจนบุรี มีธรรมชาติที่สวยงามเป็นพิเศษ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตหวงห้ามที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอวังขนาย อำเภอบ้านทวน และอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รักษาการณ์ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กรมป่าไม้จึงมีรายงานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ขอเพิกถอนพื้นที่เขตหวงห้ามที่ดินบางส่วนที่เป็นป่าเทือกเขาสลอบ เพื่อเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติได้ โดยมีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนที่ดินหวงห้ามดังกล่าวลงประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที 19 มิถุนายน 2518 และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาสลอบ ในท้องที่ตำบลไทรโยค ตำบลท่าเสา ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค ตำบลหนองเป็ด ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ และตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2518 และให้ใช้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติเอราวัณ" ตามความนิยมและคุ้นเคยของประชาชนที่รู้จักน้ำตกเอราวัณเป็นอย่างดี โดยมีเนื้อที่ประมาณ 549.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 343,735 ไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 12 ของประเทศ 

ขนาดพื้นที่
343735.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.1 (ถ้ำพระธาตุ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.2 (ปลายดินสอ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.3 (วังบาดาล)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.4 (ทับศิลา)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.5 (ผาลั่น)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.6 (มะตูม)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.7 (หนองบอน)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ที่ อว.8 (ลำต้น)

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติเอราวัณ มีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงชันอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 165-996 เมตร สลับกับพื้นที่ราบ โดยภูเขาส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินปูน ในแถบตะวันออกและตะวันตกของพื้นที่จะยกตัวสูงขึ้นเป็นแนวโดยเฉพาะบริเวณใกล้น้ำตกเอราวัณจะมีลักษณะเป็นหน้าผา ส่วนบริเวณตอนกลางจะเป็นแนวเขาทอดยาวในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยเทือกเขาที่สำคัญคือ เขาหนองพุก เขาปลายดินสอ เขาหมอเฒ่า เขาช่องปูน เขาพุรางริน และเขาเกราะแกระซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดประมาณ 996 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยที่สำคัญหลายสาย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ในพื้นที่ด้านตะวันออกนี้จะมีลำห้วยที่สำคัญคือ ห้วยม่องไล่ และห้วยอมตะลา ซึ่งไหลมาบรรจบกันกลายมาเป็นน้ำตกเอราวัณ ทางตอนเหนือของพื้นที่มีห้วยสะแดะและห้วยหนองกบ โดยห้วยสะแดะจะระบายน้ำลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ ส่วนห้วยหนองกบไหลไปรวมกับห้วยไทรโยคก่อให้เกิดน้ำตกไทรโยค ส่วนในพื้นที่ด้านตะวันตก และด้านใต้ ได้แก่ ห้วยทับศิลา ห้วยเขาพังซึ่งเป็นต้นกำเนิดน้ำตกที่สวยงามที่เรียกว่า “น้ำตกเขาพัง” หรือน้ำตกไทรโยคน้อย

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติเอราวัณแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม และฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุทยานแห่งชาติเอราวัณได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือช่วยพัดพาให้เกิดฝน แต่เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขตเงาฝน ทำให้มีปริมาณฝนตกไม่มากนัก และอากาศค่อนข้างร้อน ลักษณะอากาศดังกล่าวจึงไม่เป็นปัญหาต่อการเที่ยวชม ทำให้สามารถไปเที่ยวได้ทุกฤดู 

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าของอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ประกอบด้วย
ป่าเบญจพรรณ มีร้อยละ 81.05 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ขึ้นปกคลุมตั้งแต่ระดับความสูง 100 - 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ มะค่าโมง ตะเคียนหนู รกฟ้า ผ่าเสี้ยน ประดู่ ส้มเสี้ยว แต้ว มะกอก ตะแบก ขานาง มะเกลือ หว้า ฯลฯ มีไผ่ชนิดต่างๆ ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปหรือบางแห่งขึ้นเป็นกลุ่ม ได้แก่ ไผ่ป่า ไผ่รวก ไผ่ซางนวล และไผ่หอบ นอกจากนี้ยังมีพวกไม้เลื้อยและพืชพื้นล่าง ได้แก่ เสี้ยวเครือ นมแมว เล็บเหยี่ยว หนามคนทา ช้องแมว มะเม่าไข่ปลา ย่านลิเภา เปล้าหลวง กระทือ สังกรณี และเอื้องหมายนา เป็นต้น

ป่าเต็งรัง มีร้อยละ 1.68 กระจายอยู่ในระดับความสูง 100 - 800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณทุ่งยายหอม หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ อว.8 (ลำต้น) และบริเวณใกล้เขื่อนทุ่งนา พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง แดง ก่อแพะ มะขามป้อม อ้อยช้าง ยอป่า กรวยป่า โมกหลวง ก้างขี้มอด ส้าน เหมือดคน ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หญ้าขน หญ้าหางเสือ เล็บแมว เถาว์กระทงลาย เป้ง ลูกใต้ใบ ผักหวาน ผักเป็ด พลับพลา และปอ เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง มีร้อยละ 14.35 อยู่บนสันเขาทอดเป็นแนวยาวตรงใจกลางของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และอยู่ต่ำถัดลงมาในระดับความสูงระหว่าง 600-800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และอยู่ในบริเวณที่ชุ่มชื้นตามที่ราบริมห้วย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางโอน มะพลับดง ยมหิน ตะเคียนทอง สำโรง ตะคร้ำ สัตบรรณ เฉียงพร้านางแอ มะดูก พลองใบเล็ก ข่อยหนาม ชมพู่น้ำ ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ หวายขม เถากระไดลิง เข็มขาว มะลิไส้ไก่ ว่านเศรษฐี ตำแยกวาง เถาอบเชย ไผ่หนาม และเนียมฤาษี

จากการสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ สัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก และสัตว์น้ำอื่นๆ รวมทั้งปลานานาชนิด ที่สำคัญและมักจะพบเห็น ได้แก่ ช้างป่า หมีควาย เลียงผา อีเก้ง กวางป่า หมูป่า ชะนีธรรมดา ค่างแว่นถิ่นเหนือ ลิงกัง ลิงลม แมวดาว อีเห็นธรรมดา กระแต เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ไก่ฟ้าหลังเทา ไก่ป่า นกกวัก นกเด้าดิน นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกตะขาบทุ่ง นกหัวขวานด่างแคระ นกปรอดสวน นกจาบดินอกลาย งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูหลาม งูเห่าตะลาน กิ้งก่าหัวสีฟ้า จิ้งเหลนบ้าน ตะพาบน้ำ คางคกบ้าน เขียดจะนา อึ่งกราย กบป่าไผ่ใหญ่ ปาดบิน ปลากั้ง ปลาเวียน ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาตะเพียนขาว ปลากระสูบจุด ปูน้ำตก ปูตะนาวศรี ปูกาญจนบุรี เป็นต้น 

การเดินทาง
รถยนต์
- รถยนต์ส่วนบุคคล ไปตามถนนเพชรเกษมหรือไปตามถนนบรมราชชนนี ผ่านนครชัยศรี บ้านโป่ง ท่ามะกา ท่าม่วง ถึงจังหวัดกาญจนบุรี รวมระยะทาง 129 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง สำหรับการเดินทางจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปยังอุทยานแห่งชาติเอราวัณสามารถใช้ได้ 2 เส้นทาง คือ สายที่ 1 เริ่มต้นจากจังหวัดกาญจนบุรีไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3199 ถึงเขตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนศรีนครินทร์ ข้ามสะพานไปยังตลาดเขื่อนศรีนครินทร์ แล้วจึงเลยเข้าไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 70 กิโลเมตร สายที่ 2 เดินทางจากอุทยานแห่งชาติไทรโยค จะมีเส้นทางบริเวณบ้านวังใหญ่อยู่ห่างจากน้ำตกไทรโยคน้อยประมาณ 6 กิโลเมตร ลัดออกไปบ้านโป่งปัดบริเวณเขื่อนท่าทุ่งนาระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 3199 อีกประมาณ 25 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเอราวัณ


รถไฟ
รถไฟ ออกจากสถานีรถไฟบางกอกน้อยวันละ 2 เที่ยว ได้แก่ เวลา 07.50 น. และ 13.45 น. โดยแวะจอดที่สถานีกาญจนบุรี สะพานข้ามแม่น้ำแคว ท่ากิเลน สถานีน้ำตก ในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ มีรถไฟเที่ยวพิเศษ นำเที่ยวไปกลับภายในวันเดียว ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ สถานีรถไฟกาญจนบุรี โทร. 0-3451-1285


รถโดยสารประจำทาง
รถโดยสารธรรมดา/รถโดยสารปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ทุก 15 นาที ตั้งแต่เวลา 04.00-20.30 น. ถึงจังหวัดกาญจนบุรี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที หลังจากนั้นเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งกาญจนบุรี หมายเลข 8170 กาญจนบุรี-เอราวัณ ทุก 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.20 น. เพื่อเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที รวมระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร หรือออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ชั้น 1 ช่อง 21 สายกรุงเทพฯ-ด่านเจดีย์สามองค์ ตั้งแต่เวลา 05.00-19.00 น. โดยแวะจอดที่สถานีขนส่งจังหวัดกาญจนบุรี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที หลังจากนั้นเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสายกาญจนบุรี-เอราวัณ เพื่อเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 


สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก และสถานที่กางเต็นท์
ร้านอาหาร - ร้านอาหาร
ที่พัก - เอราวัณ 101
ที่พัก - เอราวัณ 102
ห้องประชุมสัมมนา - เอราวัณ 031 ห้องประชุม 2
ลานจอดรถ - ลานจอดรถ
โทรศัพท์สาธารณะ - โทรศัพท์ TOT (บริเวณที่ทำการ)
โทรศัพท์สาธารณะ - โทรศัพท์ TOT (บริเวณลานจอดรถ)

สถานที่ท่องเที่ยว
ถ้ำพระธาตุน้ำตกเอราวัณถ้ำวังบาดาลแม่น้ำแควใหญ่
เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดิบแล้งม่องไล่

เส้นทางศึกษาธรรมชาติเอราวัณ (ป่าไผ่)เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาหินล้านปี

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น