Our social:

อุทยานแห่งชาติพุเตย

ที่ตั้งและแผนที่
สถานที่ติดต่อ: ตู้ ปณ.19 ป.ท.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี 72180

โทรศัพท์ : 0 3544 6237 (VoIP), 08 1934 2240 (จนท.)

อีเมล: phutoei_np@hotmail.com

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายสาธิต ปิ่นกุล

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท

อุทยานแห่งชาติพุเตย เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งเดียวในจังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เทือกเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชันมาก ส่วนที่สูงที่สุดเรียกว่า “ยอดเขาเทวดา” มีระดับความสูง 1,123 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย มีป่าสนสองใบธรรมชาติที่สวยงามเหมาะที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มีเนื้อที่ประมาณ 198,422 ไร่ หรือ 317.48 ตารางกิโลเมตร

ความเป็นมา : เนื่องด้วยกรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่ป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ ป่าเขาห้วยพลู ท้องที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเดิมเป็นวนอุทยานพุเตย วนอุทยานพุกระทิง วนอุทยานเตรียมการตะเพินคลี่ และป่าไม้ข้างเคียงมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้ ดังนั้นกรมป่าไม้จึงมีคำสั่ง ที่ 1224/2537 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 ให้นายพันเทพ อันตระกูล นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม และจัดตั้งวนอุทยานพุเตย วนอุทยานพุกระทิง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ จังหวัดสุพรรณบุรี และจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ จากผลการสำรวจพบว่า ประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า ภูเขา เกาะ และน้ำตก ที่สวยงามยิ่ง สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป

คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู ในท้องที่ตำบลองค์พระ ตำบลห้วยขมิ้น ตำบลนิคมกระเสียว ตำบลวังยาว และตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติพุเตย โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 67 ก ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 85 ของประเทศไทย

ขนาดพื้นที่
198422.00 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่1 (พุเตย)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ 2 (พุกระทิง)

ภาพแผนที่

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงชันติดต่อกันสลับซับซ้อนมีจุดสูงสุด คือยอดเขาเทวดา มีระดับความสูง 1,123 เมตร อุทยานแห่งชาติพุเตยจึงเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยตะเพิน ห้วยใหญ่ ห้วยองค์พระ ห้วยขนุน ห้วยชลอม ห้วยขมิ้น ซึ่งเป็นสายน้ำหลักของชาวสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ทั้งยังเป็นต้นน้ำเขื่อนกระเสียว อ่างเก็น้ำลำตะเพิน

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศ มีมรสุมพัดผ่านตามฤดูกาล 3 ฤดูคือ ฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม มีฝนตกชุกตลอดฤดูกาล
ฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดฤดูกาล มีอุณหภูมิต่สุดเฉี่ลยประมาณ 7-15 องศาเซลเซียล
ฤดูร้อน ประมาณเดือนกุมภาพันธด์ ถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิในเวลากลางวันจะมีประมาณ 30-37 องศาเซลเซียลและในเวลากลางคืนมีอุณหภูมิประมาณ 23-28 องศาเซลเซียล 

พืชพรรณและสัตว์ป่า
ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าสนสองใบ กระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่ส่วนต่างๆของอุทยานตามลักษณะภูมิประเทศ ที่เหมาะสมแกการกระจายพันธุ์ของป่าชนิดนั้นๆ โดยเฉี่ลยมีความหนาแน่นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ พรรณไม้ที่เด่นได้แก่ พระเจ้าห้าพระองค์ ต้นผึ้ง ยางนา ยางน่อง เหียง พลวง แดง ชิงชัน ประดู่ มะค่าโมง ไผ่ป่าต่าง ๆ และพันธุ์ไม้สนสองใบ

สัตว์ป่ามีอยู่ชุกชุมมาก เนื่องจากมีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสมบูรณ์ สัตว์ป่าทั่วไปได้แก่ เสือ เก้ง ชะนี หมี นางอาย หรือลิงลม เม่น งูจงอาง งูเห่า หมูป่า อีเห็น ลิง ชะมด เสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ ไก่ป่า นกเขาเขียว นกกางเขนดง แซงแซวหางบ่วง เหยี่ยวรุ้ง นกเงือก ฯลฯ

การเดินทาง
รถยนต์

จากกรุงเทพฯ ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) จนกระทั่งถึงทางแยกเข้าสู่อำเภอเดิมบางนางบวช ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายผ่านอำเภอเดิมบางนางบวช ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตรแล้วเลี้ยวขวาอีกครั้งเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 733 มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองอำเภอด่านช้าง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) เข้าสู่ตัวจังหวัดนครปฐม จากนั้นให้เลี้ยวขวาที่สามแยกมาลัยแมน เข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 321 มุ่งหน้าสู่อำเภออู่ทอง ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร และจากอำเภออู่ทอง ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 333 เข้าสู่อำเภอด่านช้าง อีก 50 กิโลเมตร
จากอำเภอด่านช้างใช้เส้นทางสาย 333 (ด่านช้าง-บ้านไร่)ไปอีก 15 กิโลเมตรก็จะพบทางแยกเข้าบ้านวังดินเข้าไปที่บ้านป่าขีดอีก 15 กิโลเมตร (ทางลาดยาง) แล้วต่อด้วยทางลูกรัง จากบ้านป่าอีเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย อีก 3 กิโลเมตร 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น